ข้าวธรรมชาติ ที่ผ่านวิกฤติด้วยรากฐานความเข้าใจอย่างยั่งยืน
สำหรับคนทำธุรกิจ วิกฤติโควิดที่เรากำลังรับมือกันอยู่นับเป็นมหันตภัยรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งที่เคยรับมือมา เพราะไม่ใช่แค่ส่วนใดส่วนหนึ่งของสังคม แต่เป็นทุกองค์ประกอบที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเดียวกันหมด

การล้มหายตายจากและขาดรายได้ของผู้คนกลายเป็นภาพชินตาที่เห็นได้ตั้งแต่บนหน้าจอ ไปจวบจนบนท้องถนนทุกหัวระแหง แต่สำหรับ “ข้าวธรรมชาติ” แบรนด์ข้าวจากชุมชน อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ผลิตภัณฑ์ข้าวปลอดสารเคมีที่เกิดจากความตั้งใจที่อยากให้คนไทยได้รู้จักกับข้าวปลอดภัย ปลอดภัยทั้งคนทานและชาวนา ที่มีหัวเรือใหญ่เป็นเจ้าของโรงสีอย่าง เฮียบิ๊ก ชินศรี พูลระออ โควิดในครั้งนี้ไม่ได้สร้างความล่มสลายให้กับชุมชนของที่นี่

“ถ้าธุรกิจจะยั่งยืนได้ สังคมแวดล้อมต้องยั่งยืนไปด้วยกัน ธุรกิจจะพัฒนาได้ สังคมแวดล้อมมันต้องพัฒนาไปด้วยกัน มันถึงจะไปในแนวทางเดียวกันในการพัฒนาที่ยั่งยืน”
เฮียบิ๊ก เล่าให้เราฟังถึงแนวคิดต่อการทำแบรนด์ข้าวธรรมชาติ ที่กลายมาเป็นการรับมือกับโควิด 19 ที่ดีที่สุด จนผ่านพ้นวิกฤติไปได้ ไม่ใช่แค่ในเรื่องของแบรนด์ แต่เป็นการอยู่รอดของทั้งคนในชุมชนและชาวนา
>>> ข้าวอร่อยได้เพราะคน
สำหรับแบรนด์ ข้าวธรรมชาติ ความอยู่รอดในวิกฤติครั้งนี้ไม่ได้มาเพราะโชคช่วยหรือความบังเอิญ แต่เกิดจากการวางรากฐานตั้งแต่ความเข้าใจในทุกฝากฝั่งอย่างแท้จริงของธุรกิจ เริ่มตั้งแต่เรื่องของ “คน”

“โรงสีพี่มีข้าวที่ดีสีอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าชาวนาอยู่ไม่ได้ โรงสีเองต้องไปวิ่งหาข้าวแต่ละพื้นที่เอามาสี ซึ่งความหมายต่างกันเลยและการทำงานก็ต่างกัน อย่างเราอยู่ในหมู่บ้าน เราส่งเสริมให้ชาวนาปลูกข้าว แล้วช่วยลงไปดูเขา ว่าเขาขาดอะไร ปัญหาเขามีอะไร”
“อย่างเรื่องเมล็ดพันธุ์ ชาวนาบอกว่า เฮียบิ๊กเมล็ดพันธุ์ในท้องตลาดไม่ดีเลย ผมไม่รู้จะไปหาที่ไหน เราก็รับโจทย์มา ปรึกษาศูนย์วิจัยข้าว จนได้เมล็ดพันธุ์มาให้ชาวนาปลูก”
“เราทราบปัญหามาอีกว่า เวลาจะปลูกนา ชาวนาต้องไปกูหนี้ยืมสิน ต้องไปกู้สหกรณ์ ต้องไปยืมคนนั้นคนนี้แล้วเสียดอกเบี้ย เพราะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ เราเองบอกว่า มาเอาไป ถ้าเป็นคนในพื้นที่ มีความซื่อสัตย์ มาเอาไปได้เลย ถ้าคุณเป็นคนดี ไม่หลอกลวงเรา คุณพูดตรงคำไหนคำนั้น คุณมาเอาเมล็ดพันธุ์ไป แล้วเวลาข้าวออก คุณเอาเมล็ดข้าวเปลือกสดนี่แหละ มาหักกันเป็นจำนวนเงิน เท่ากับว่าเราเอาเงินเราซื้อข้าวไปก่อน ชาวนาไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ช่วยประหยัดให้เขา มันก็ถือเป็นการช่วยตั้งแต่เบื้องต้น”
“พอเมล็ดพันธุ์เสร็จ ระยะการดูแลเขาขาดอะไรบ้าง ต้องใส่ปุ๋ยใช่ไหม เราก็ถามไปว่า ใส่ปุ๋ยไปทำไม ชาวนาบอกว่าอยากให้ต้นข้าวเขียว แล้วถามว่าคุณปลูกข้าวนี่ต้องการเขียว หรือต้องการผลผลิต ที่เราต้องลงไปคุยในนา เพราะนาคือบ้านของชาวนา ถ้ามาคุยที่โรงสี เขาจะไม่กล้าพูดอะไรหลายๆ อย่าง เพราะนี่คือบ้านของโรงสี พอเราเข้าใจธรรมชาติของคนก็จะค่อยๆ ศึกษาและเดินตามเขาไป”

“จากเดิมเคมีล้วนๆ 100% ทั้งยาฆ่าหญ้า ฆ่าแมลง ปุ๋ยสารพัด มีกำลังเท่าไรชาวนาเขาก็ทุ่มซื้อ เราก็ค่อยๆ ไปคุยว่ายาฆ่าหญ้านี่เลิกใช้ได้เลย เราไปบอกเขาว่า ถ้าเกิดว่ามันลงไปในนานี่นะ นอกจากมันจะไปปนเปื้อนในนา ในน้ำ ในแผ่นดินแล้ว มันจะทำให้ตัวพี่ปนเปื้อนไปด้วย”
“เคยมีคนในหมู่บ้านเดินนาไปเกี่ยวหนาม ขาบวมเกือบต้องตัดขาเพราะฤทธิ์ยาเคมี วันที่เรายังปกติเราไม่รู้สึก แต่ถ้าวันที่เราหรือญาติพี่น้องเราโดนมา เราจะเป็นอย่างไร ทุกวันนี้ยาฆ่าหญ้าเริ่มไม่มี ยาฆ่าแมลงเริ่มไม่มี พวกนี้เป็นเรื่องที่ต้องสอนความรู้ให้เขา มันก็เป็นเกราะป้องกัน เป็นภูมิคุ้มกันให้เขาไม่โดนหลอก”
“เราสร้างให้พอมีปัญหา กล้าถาม กล้าบอก พอข้าวมีปัญหามาหาเรา ก็ต้องกล้าบอกว่าข้าวเป็นอะไร ข้าวเกิดจากโรค กับข้าวเกิดจากแมลงการจัดการก็ต่างกัน วิธีการป้องกันการดูแลก็ต่างกัน พวกนี้เราสอนให้หมด เราไปหาความรู้แล้วกลับมาให้ชาวนา เพราะเราเชื่อว่าพอมีความรู้ มันจะเป็นการพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ เขาสามารถปลูกวันนี้แล้วส่งต่อให้ลูกให้หลานได้ สิ่งที่เขามีคือประสบการณ์ สิ่งที่ต้องให้คือความรู้ สองอย่างนี้ต้องไปด้วยกัน”
>>> เข้าใจคือ… เข้าไปนั่งอยู่ในใจ
ไม่ใช่เพียงความเข้าถึง เข้าใจ ในฝั่งเกษตรกร ข้าวธรรมชาติลงลึกเข้าไปถึงการช่วยแก้ปัญหาให้กับฝั่งผู้ประกอบการที่ซื้อข้าวไปใช้ต่อ จนสามารถเกิดห่วงโซ่ที่ครบองค์ประกอบ ชาวนาอยู่ได้ โรงสีอยู่ได้ ผู้ส่งต่อคุณค่าอย่างร้านค้าร้านอาหารก็อยู่ได้ กลายมาเป็นคุณค่าที่ถูกส่งต่อกันเป็นทอดๆ จนนำมาซึ่งรากฐานที่มั่นคงของแบรนด์
“พี่เป็นโรงสี พี่รู้ว่าข้าวที่เหมาะกับพื้นที่จังหวัดเชียงรายเป็นข้าวอะไร เราก็ปลูกข้าวอันนั้น แล้วเรารู้ว่าตลาดของเราเป็นตลาดไหน ตลาดผู้บริโภคทั่วไป หรือตลาดกลุ่มลูกค้าที่ใหญ่ขึ้นกว่านั้น ร้านค้า ร้านอาหาร หรือกิจการแปรรูป พอรู้พวกนี้ เราสามารถที่ไปเจาะกลุ่มโดยตรงเราได้ชัดเจนขึ้น”
“เวลาพี่หาลูกค้า พี่จะไม่คุยกับฝ่ายจัดซื้อ เพราะจัดซื้อกับเจ้าของคนละชุดความคิดกัน ถ้าเจ้าของคนไหนต้องการของดีราคาถูก ก็จบเลย ไม่คุย ครั้งแรกเราไม่ได้ไปขาย เราไปถามเขาว่า ปัญหาที่เขาเจอมันมีอะไร ข้าวเขามีปัญหาอะไรมาบ้าง แล้วพอเราแก้ได้ ตัวเลขจากการลดการสูญเสีย ก็เท่ากับรายได้ของเขา แล้วเราเองพอทำไปนานๆ เริ่มวางแผน เราก็บริหารการจัดการช่วยเขาได้อีกทางหนึ่ง”

“ตามท้องตลาดในบรรดาโรงสีที่ขาย ก็จะไปขายในตลาดใหญ่ๆ ในคนที่ไม่สามารถเลือกข้าวเข้าสู่ชีวิตตัวเองได้ อย่างเราเองไปขายในประเภทของคนที่ต้องการใช้ข้าวเพื่อคุณภาพของสินค้าของเขา เพื่อผู้บริโภคของเราได้ของดีมีคุณภาพกิน เวลาคนมากินข้าวที่ร้าน ถ้าคนชมว่าข้าวอร่อย เจ้าของร้านก็หน้าบาน พอเจ้าของร้านหน้าบาน ถามว่าเขากล้าเปลี่ยนข้าวไหม ถ้าเขาเปลี่ยนข้าวแล้วลูกค้ามาบอกว่า พี่วันนี้ข้าวไม่อร่อย เขาจะรู้สึกอย่างไร เขาก็จะใช้ของเราเรื่อยๆ ทำแบบนี้มันกลับกลายเป็นว่า เราสามารถผูกกับเขา (ผู้ประกอบการ) ได้ยาวๆ ทำให้ลูกค้าของพี่ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิดเท่าไร พี่เลยเอาเวลาตรงนี้ไปช่วยคนที่ได้รับผลกระทบ”
>>> คุณค่าของข้าวที่ไม่ใช่แค่ความอร่อย
สำหรับข้าวธรรมชาติ ข้าวกลายมาเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในชุมชนกับแบรนด์ เพราะเฮียบิ๊กเชื่อเสมอว่า ความเกื้อกูลที่สร้างสังคมรอบข้างในดีไปพร้อมการเติบโตของแบรนด์ ย่อมเป็นเกราะป้องกันที่ดีที่สุด ทั้งต่อการอยู่รอดของธุรกิจเองและการอยู่รอดของชุมชนเบื้องหลัง
“เมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา อย่างในหมู่บ้านมีคนนอกเข้ามาดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ พอกลับไป ผู้ใหญ่ที่บ้านก็ติดโควิด ก็ทำให้ทั้งหมู่บ้านต้องกักตัว เราเองก็ทำหน้าที่โรงสีข้าว เอาข้าวไปช่วยเหลือเขา เพราะเราเชื่อเรื่องการเกื้อกูล พอปัญหามันเกิดในหมู่บ้าน เราไม่เคยรีรอ เราไม่เคยคิดเลยว่าจะต้องเสียเงินเท่าไร เสียของเท่าไร เพื่อเอาไปให้คนที่ไม่มี เราคิดอย่างเดียวว่า จะทำยังไงให้ของของเราไปถึงเขาให้เร็วที่สุด และมีกำลังดำเนินชีวิตต่อไปได้”

“ชาวบ้านบางคนถามเราว่า เฮียบิ๊กไม่เสียดายเงินหรือ ที่เอาข้าวมาให้พวกผม เราบอก ผมไม่เคยคิดเรื่องนี้ก่อน ผมคิดแค่ว่าพวกคุณจะได้อะไรจากข้าวผม นั่นหมายความว่า หนึ่งลมหายใจของพวกคุณ สามารถหล่อเลี้ยงอีกหลายชีวิตของครอบครัวคุณได้ มันทำให้ข้าวผมมีคุณค่ามากขึ้น ไม่ได้มีมูลค่าขึ้นนะ แต่ถ้าลองเอามาเทียบมูลค่าจริงๆ สำหรับ 205 หลังคาเรือน เป็นเงินเท่าไรมันก็เทียบไม่ได้ กับความสามัคคีในชุมชนที่มันเกิดขึ้นตอนนี้ มันก็เทียบไม่ได้ กับหนึ่งลมหายใจที่จะคอยดูแลช่วยเหลือหมู่บ้าน พอสถานการณ์มันคลี่คลาย ทุกคนก็บอก เฮียบิ๊กขอบคุณมากเลยที่เอาข้าวมาให้พวกเรา คือถ้าไม่ได้เฮียบิ๊กก็ไม่รู้จะไปทางไหน ทั้งหมดทั้งมวลมันเกิดจากที่เรารู้ตัว และเรารู้ว่าเราควรทำอะไร”
>>> เพราะไม่มีเครื่องจักรใดเปลี่ยนข้าวแย่ๆ ให้กลายเป็นข้าวที่ดีได้
เมื่อเราพูดถึงความเป็นโรงสี คุณคิดถึงอะไร รถอีแต๋นขนข้าว สถานที่รับซื้อข้าวเปลือก เงิน รายได้ของขาวนา สำหรับแบรนด์ข้าวธรรมชาติแล้ว ถึงแม้จะเป็นคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภค แต่ด้วยความเชื่อที่ว่า ไม่มีเครื่องจักรใด เปลี่ยนข้าวแย่ๆ ให้กลายเป็นข้าวที่ดีได้ ความใส่ใจนี้เองค่อยๆ เปลี่ยน ผู้ซื้อ และ ผู้ขาย กลายเป็นความเชื่อใจ ที่เป็นหัวใจหลักของ “ข้าวธรรมชาติ”

“เมื่อก่อนตอนแรกๆ ที่ทำ เราคิดว่าการเอาความเจริญเข้าไปให้จะเป็นการดีสำหรับเขา แต่เราคิดผิด เพราะเขายังไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตารองรับความเจริญเหล่านั้น เราเองถึงต้องปรับใหม่ ว่าถ้าเราจะทำให้ชีวิตชาวนาดีขึ้น เราจะทำอย่างไร”
“พี่ตั้งใจไปหาเข็มทิศ ที่จะนำพาชาวนาให้มีชีวิตที่ดีขึ้น สิ่งที่ได้มาจากพอแล้วดีคือแผนที่ชีวิต การที่เราสามารถรู้ตัวรู้ตนว่าเราเก่งอะไร ไม่เก่งอะไร เวลาที่เรารู้พวกนั้น ทำให้เรารู้ว่าเราควรอยู่ตรงไหน ทำอะไร ทำเวลาไหน ทำเท่าไร ให้พอเหมาะพอดี ธุรกิจของเราขนาดเป็นแบบนี้จะแข่งกับใคร ธุรกิจขนาดเท่าเรา เล็กกว่าเรา เขาเป็นแบบไหน”
“คนที่เขากินข้าว เขาจะรับรู้รสชาติไปตลอดชีวิต คนเราหากินของอร่อย ไม่ได้หากินของถูก คุณค่าของการคงอยู่ของโรงสีนี้ คือการที่เราทำข้าวเพื่อให้ชีวิตชาวนาดีขึ้น ทำให้ลูกค้าที่ซื้อข้าวเราไปใช้ มีรายได้ที่ดีขึ้น ผู้แปรรูปเห็นคุณค่าโรงสี โรงสีเองก็ต้องเห็นคุณค่าของชาวนา มันไปด้วยกันทั้งห่วงโซ่ ทั้งชาวนา โรงสี และผู้แปรรูป ทั้งกำไร ทั้งชุมชน ทั้งสภาพแวดล้อมต้องไปด้วยกันถึงจะยั่งยืน ตัวเราถ้าทำโดยที่ไม่มีคุณค่าในตัวเอง คุณทำเท่าไรก็ไม่รู้จักพอ แต่ถ้าทำแล้วรู้จักคุณค่าในตัวเอง ได้น้อย ก็เหมือนมีมาก มีมากก็ยิ่งแจกจ่ายยิ่งแบ่งปัน”
จากข้าวเมล็ดเล็กๆ ที่บางคนไม่เห็นคุณค่า ไม่เห็นประโยชน์ แต่เมื่อข้าวเมล็ดนั้นเติบโตขึ้นมาแล้วสามารถหล่อเลี้ยงชุมชนได้ หล่อเลี้ยงกับคนที่ทุกข์เข็ญยากไร้ให้อิ่มท้อง ข้าวเมล็ดเล็กๆ นั้นมันได้ทำหน้าที่พูดแทนเรื่องราวคุณค่าการคงอยู่ของชาวนา พูดแทนเจ้าของโรงสี พูดแทนเจ้าของกิจการที่ใช้ข้าวที่เต็มไปด้วยคุณค่าชีวิตของผู้คน
ก่อนการสัมภาษณ์ เฮียบิ๊กบอกกับเราว่า วิกฤติโควิดครั้งนี้ ไม่ได้สร้างผลกระทบรุนแรงต่อเนื่องให้กับธุรกิจ เรามีคำถามกับสิ่งที่เฮียบิ๊กพูดมากมาย จนกระทั่งได้รับรู้เรื่องราววิธีการที่เฮียบิ๊กค่อยๆ สานสัมพันธ์ ก่อร่างสร้างแบรนด์ “ข้าวธรรมชาติ” อย่างเข้าอกเข้าใจ อย่างเกื้อกูลกันทั้งระบบ ระหว่างชาวนาต้นทาง โรงสีที่เป็นคนกลางทาง และผู้ประกอบการ ร้านอาหารรวมถึงลูกค้าครัวเรือนปลายทาง ความสัมพันธ์ที่เป็นเหมือนรากลึกอันมั่นคงนี้เองที่ทำให้ข้าวธรรมชาติ ยืนหยัดและส่งต่อคุณค่าไปได้ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติอีกกี่ครั้งก็ตาม
:::
พอแล้วดี The Creator : ชินศรี พูลระออ (บิ๊ก)
ธุรกิจ : ข้าวธรรมชาติ