ร้านสลัดเพื่อสุขภาพจากจังหวัดพิษณุโลกที่ตั้งใจทำผักและเมนูสุขภาพดีๆ สำหรับทุกคน ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันในวิกฤตโควิด-19 นี้ แต่นั่นคงไม่ใช่เหตุผลที่จะหยุดให้ คุณมิ้ม – ผกามาศ อินทับ พอแล้วดี The Creator รุ่น 3 หยุดทำเรื่องราวดีๆ ในสังคม เธอใช้ความรู้ที่มี คิดอย่างมีสติ และเลือกทำอาหารเพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ ม.นเรศวร ไม่ต้องเสียเวลาไปหาข้าวกลางวัน ข้าวเย็น เดี๋ยวเธออาสาทำอาหารกล่องไปแจกเอง แม้ว่า ‘เหนื่อยแต่สุขใจ’

การลุกขึ้นมาทำงานเพื่อสังคมในสถานการณ์วิกฤตแบบนี้คุณใช้หลักการ 3 ห่วง 2 เงื่อนไขยังไงบ้าง
ถ้าถามหาเหตุผล ก็คงตอบได้เพียงเหตุผลเดียว คือ เราต้องช่วยกัน ในเวลาที่ทุกคน ทุกธุรกิจ ตกอยู่ในสภาวะเดียวกัน การปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญ ความที่เป็นธุรกิจเล็กๆ จึงปรับตัวได้เร็ว เมื่อขายหน้าร้านไม่ได้ เราเปลี่ยนพนักงานเสิร์ฟจากที่เคยถึงโต๊ะ ให้เป็นเสิร์ฟถึงบ้านด้วยบริการจากใจเหมือนได้กินที่ร้าน แต่ปัญหามาเกิดกับสต๊อกผัก ที่รันตามตารางปลูก เราไม่อยากใช้คำว่า อุ้มพี่ๆ น้องๆ คนปลูก แต่เราขอใช้คำว่า ช่วยกัน เพราะเราคือเพื่อนร่วมทางกัน เราจึงมีความคิดว่า กำไรจากการขายแบบให้บริการส่งนี้ หักค่าใช้จ่ายแล้ว ใน 1 สัปดาห์เราจะนำมาทำอาหารกล่องไปมอบให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานใน รพ.มหาวิทยาลัยนเรศวร และเราได้พูดคุยกับพี่ๆ น้องๆ เกษตรกร ทุกคนเห็นด้วย และจะให้ผักแบบไม่คิดเงินในทุกครั้งที่เราจะทำอาหารไปมอบ (ดีกว่าผักจะแก่ต้นไปเปล่าๆ) เอามาแบ่งปันทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นได้ด้วยจึงได้เกิด โครงการสาระดีดีและเพื่อน
โครงการนี้เราคิดขึ้นมาเพียงตั้งใจว่า อยากจะขอบคุณเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานกันอย่างหนักหน่วงอยู่หน้าด่านเพื่อดูแลสถานการณ์โควิด-19 เราได้ติดต่อไปยังเลขาของทางคณะแพทยศาสตร์ ม.นเรศวร ซึ่งอยู่ใกล้ชุมชนที่เราอาศัยอยู่และทำธุรกิจในพื้นที่นี้ เพื่อทำอาหารไปมอบให้ เพื่อเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่และอยากให้ได้ทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อจะมีร่างกายที่แข็งแรง โดยเริ่มทำสัปดาห์ละ 1 วัน และมอบอุปกรณ์ป้องกันในการทำงานของเจ้าหน้าที่ (face shield) และสมทบทุนกับเพื่อนๆ ในโครงการอื่นๆ เท่าที่มีกำลังทรัพย์

ในจุดที่คุณเลือกได้ว่าจะทำหรือไม่ทำความแตกต่างของการเลือกทำคืออะไร
พูดแบบจากใจเลยคือ ได้ความสุข เพราะในทุกๆ ครั้งที่ทำไป เราได้รับรอยยิ้มผ่านดวงตา และคำขอบคุณ ไม่มีใครรู้หรอกว่า การเลือกทำในแต่ละครั้งมันส่งผลต่อใคร ใหญ่มากขนาดไหน แต่มันส่งผลกับโดยตรงกับหัวใจของเรา ความสุขที่ได้ทำ กับความสุขที่อาจไม่ได้ทำ มันคนละความรู้สึกเลย อีกอย่างถ้าเราอยู่ในจุดที่ช่วยเหลือกันได้ เราเองอยากชวนลูกๆ ชวนเพื่อน ชวนพนักงาน ให้เขาได้มีโอกาสลองได้รับความรู้สึกดีๆ แบบนี้ดู การให้ช่วยให้เราลดตัวตนลงไปได้เยอะนะ

ในฐานะพอแล้วดี The Creator คุณคิดว่าคุณมีวิธีการรับมือกับเหตุการณ์อย่างไร
การเป็นพอแล้วดี ช่วยให้เรา มีการตั้งสติ คิด ทบทวน ก่อนลงมือทำ ทำด้วยความมีสติ โดยหลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข มันเหมือนมีเฟรมให้เราได้เดินตาม ฉันอยู่จุดไหนของเฟรมนั้นนะ ถ้าอยู่ในแต่ละห่วงหลักการหัวใจสำคัญในการคิดก็แตกต่างกันออกไป เราเองก็ได้ยึดความคิดจากตรรกะมากกว่าใช้ความรู้สึกนำทาง แต่ก่อนที่จะเดินทางสู้ต่อไปในสภาวะที่ต้องมีใจแข็งแกร่ง และเพื่อรักษาธุรกิจเล็กๆ แบรนด์เล็กๆ ที่เราสร้างขึ้นมาให้อยู่รอดได้ เราต้องมีเฟรมหรือกรอบความคิดที่ถูกต้องเอาไว้ใช้ได้กับทุกสถานการณ์

ระหว่างการทำกำไรกับการทำประโยชน์เพื่อสังคมคุณมองเรื่องนี้อย่างไร
คนเป็นแม่ค้า แน่นอนว่า ต้องหากำไร แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะเราเองจำเป็นต้องพาทุกคนในห่วงโซ่ของธุรกิจของเรา ต้องการจัดธุรกิจให้ได้ ต้องรู้ว่าจะทำอย่างไรถึงจะได้เม็ดเงินเข้ามา เพื่อให้น้องๆ ในทีมเรารอด ให้คนที่ปลูกผักได้ตัดผักมาตามกำหนด และส่วนที่เป็นกำไรนั้น คืนให้กับสังคม แต่อย่าเรียกว่ากำไรเลย เรียกว่าส่วนต่างระหว่างต้นทุนดีกว่า ในวิกฤตแบบนี้กำไรคืออะไร แค่มีเหลือจากต้นทุนในโมงยามเช่นนี้ ก็เรียกได้ว่าดีกว่าต้องปิดร้านไปเลย เพราะในยามนี้เราทุกคนต้องช่วยกัน



ติดตามร้านสาระดีดีได้ที่
https://www.facebook.com/ร้านสาระดีดี-SALAD-D-378881588863740/