โควิด 19 กับประตูบานใหม่ที่เติมเต็มให้บุญบูรณ์…บริบูรณ์
ตั้งแต่ครั้งวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 “วัต” ชญาน์วัต สว่างแจ้ง ตัดสินใจย้ายถิ่นฐานครั้งสำคัญ เปลี่ยนจากสถาปนิกหนุ่มเมืองกรุง มาลงหลักปักฐานเป็นเกษตรกร โดยเลือกลำปางเป็นบ้านหลังใหม่ ตั้งใจสร้างบ้านให้ครอบครัวด้วยความบริบูรณ์ จากทั้งผู้คน สภาพแวดล้อม และวิถีเกษตรที่มี “แพะ” เป็นกัลยาณมิตร

จากเรื่องราวการทำเกษตรปศุสัตว์ที่เกื้อกูลกับธรรมชาติ ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม จนเป็นที่มาของคำว่า “แพะมีบุญ” คือมีบุญทั้ง “แพะ” ที่อยู่ในฟาร์ม มีบุญทั้ง “คน” ที่ได้ดื่มนม ได้ใช้สินค้าคุณภาพดีของบุญบูรณ์
กระทั่งสิบปีผ่านไป วิกฤติโควิดกลายเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่บุญบูรณ์ต้องเผชิญ เหมือนๆ กับอีกหลายๆ ธุรกิจ
“โชคดีตรงที่ว่า ก่อนหน้านี้เราไม่ได้โตไปมากกว่านี้ เลยไม่ต้องแบกรับภาระอื่นๆ แค่จัดการตัวเองให้ได้ก็พอ แล้วอาจจะเป็นความโชคดีของเรา ที่หลังจากกลับจากพอแล้วดี เราเริ่มมีความคิดที่จะลดการออกไปนอกฟาร์ม มาขายของ มาเปิดคอร์ส อบรมที่ฟาร์ม มันทำให้คนที่เคยเสพของเราแล้ว ได้มารู้จักเรา ได้มาอยู่กับเรา มันก็เป็นประสบการณ์ที่ได้อยู่กับแพะมากขึ้นกว่าที่เคย” วัต เล่าให้เราฟังถึงช่วงเวลาแห่งการรับมือกับโควิดของบุญบูรณ์ฟาร์ม
“เรื่องการรับมือกับโควิด บุญบูรณ์เราก็จะแบ่งเป็นสามช่วง อย่างโควิดระลอกแรกมันมาแบบไม่ทันได้ตั้งตัว แค่รู้ว่าจะมาแต่ไม่ได้คิดว่ามันจะใหญ่โตหรือว่ายาวนานขนาดนี้ เราคิดว่าแค่เดือนสองเดือนก็หาย หรือแค่สลับช่องทางไปออนไลน์ เดี๋ยวก็กลับมาขายหน้าฟาร์มปกติ แต่จริงๆ มันไม่ใช่ เราก็ประเมินมันเพี้ยนไปนิดหนึ่ง”

>>> ห้วงเวลาของการประมาณ (และประเมิน) ตน
ด้วยความที่บุญบูรณ์เป็นฟาร์มเล็กๆ กำลังที่มีก็ไม่สามารถจะไปเป็นโรงงาน หรือฐานการผลิตใหญ่โตได้ ว่ากันตามตรงจริงๆ แล้ว วัต อยู่ตัวคนเดียวด้วยซ้ำไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เองที่ทำให้เขาได้ตกผลึกกับการอยู่คนเดียว ได้ใช้เวลาทั้งวันทั้งคืนอยู่กับแพะ ได้ทำความรู้จักกับแพะละเอียดมากขึ้น จนเป็นที่มาของการพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆ ในฟาร์ม
“พอต้องอยู่กันยาวๆ มันก็มีเวลามาคิดทบทวนเรื่องการประมาณตน เราคิดได้ว่า จริงๆ แล้วเรากระโจนเข้าไปอยู่ในการแข่งขันแบบออนไลน์เหมือนคนอื่นๆ แต่เอาเข้าจริงเราไม่สามารถไปแข่งขันหรือลงทุนให้สินค้าของเราขนส่งได้ในราคาที่ถูกๆ เหมือนคนอื่นเขาทำ ซึ่งถ้าจะทำอย่างนั้นจริงๆ เราต้องทิ้งฟาร์มไปเลย แล้วไปทำโรงงานแปรรูปอาหาร แปรรูปนมมากกว่า ซึ่งมันก็เป็นไปไม่ได้”
“ตอนนั้นก็เลยใช้วิธีการลดทอนสิ่งที่มันหนักอึ้งเกินไปสำหรับเรา เพราะไม่ใช่แค่เรื่องของโรคระบาด เรื่องใช้ชีวิตมันก็ยากขึ้น เพราะแฟนเราก็โดนล็อกดาวน์ที่กรุงเทพ คนงานที่ฟาร์มก็เพิ่งจะลาออกไปพอดี จังหวะเหมือนไม่เอื้ออำนวย พอหลังจากคนงานเราออก ลำปางก็โดนประกาศล็อกดาวน์ไม่มีคนมาเที่ยว ไม่มีการเดินทาง เราต้องอยู่ที่ฟาร์มคนเดียวตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม ถึงเดือนสิงหาคม ก็เลยเหมือนได้ลองผิดลองถูก ได้เช็คกำลังตัวเองว่า คำว่าประมาณตน เราไหวแค่ไหน

>>> ลดทอนอย่างรู้จักตน
ความเข้าใจตัวเองที่เกิดจากการวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล คิดจากความเป็นจริงที่ไม่เข้าข้างตัวเอง เป็นวิธีทางรับมือเบื้องต้นของปัญหาที่บุญบูรณ์เลือกนำมาใช้
“หลังจากที่ลองช่วงแรกๆ แล้วเราก็เลยรู้สึกว่า ถ้าเราตัวคนเดียว ในการประครองบุญบูรณ์ให้รอด ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องรายได้ แค่มีต้นทุนหมุนเวียนกลับมาเลี้ยงฟาร์ม เลี้ยงแพะให้อิ่มทุกตัวต้องทำอย่างไร พอมันมีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น ก็ได้มานั่งวิเคราะห์แล้วว่า หนึ่งคนที่จะทำงานในฟาร์มได้ทุกอย่าง มันทำได้แค่ไหน มันถึงเกิดการที่ต้องขายแพะออกไปบ้าง ต้องลดสินค้าที่ไม่ได้เป็นสินค้าทำเงินออกไป และมาคิดว่าสินค้าที่ขายได้จริงๆ เราสามารถทำเองคนเดียวได้ มันสามารถส่งได้จริงหรือเปล่า ก็เป็นเรื่องของการปรับตัวในช่วงแรก เอาเรื่องประมาณตนก่อน”

>>> หว่านพืชคัดกรองผล
สิ่งที่วัตทำในการกระโจนเข้าสู่ตลาดออนไลน์แบบเร่งด่วนเพื่อรักษาสภาพคล่องของฟาร์ม คือการสำรวจตลาดให้มากที่สุดเท่าที่หนึ่งแรงสามารถ ก่อนที่จะคัดกรอง และเก็บเกี่ยวผลในท้ายที่สุด โดยสิ่งสำคัญคือการไม่ลืมว่าตัวเองเป็นใคร และลูกค้าจริงๆ ของบุญบูรณ์คือใคร
“เรื่องความมีเหตุมีผล เราก็ต้องไปดูเปรียบเทียบกับของคนอื่นว่าจริงๆ แล้วเรามีอะไรที่สามารถนำเสนอแล้วคนได้ยินเรา หรือช่องทางที่จะตื่นเต้นกับสิ่งที่เราเป็น สิ่งที่เรามี แล้วก็ไปนำเสนอผ่านทางช่องทางการตลาดต่างๆ หรือแม้กระทั่งสื่อต่างๆ ตอนนั้นเราก็โปรยไปเยอะ แต่สุดท้ายการที่เราจะมีเหตุมีผลมันจะคัดกรองเองว่า เราจะอยู่ในตลาดแบบไหน บนช่องทางออนไลน์ที่เกิดขึ้นเต็มไปหมด เลือกคุยกับใครที่จะไปต่อได้นาน ไปต่อได้ไกล”
“เรื่องภูมิคุ้มกัน บางช่องทางมันก็ล่อตาล่อใจ บางคนก็มาขอซื้อจำนวนมาก ขอซื้อผลิตภัณฑ์เราไปขายต่อโดยที่กดราคาเหมือนสร้างเงื่อนไขให้เราทำตามไม่ได้ ใจหนึ่งก็เชื่อว่าถ้าได้จริงก็ดี แต่พอมาชั่งน้ำหนักดูแล้ว โอกาสที่เราจะเสียมากกว่าได้เยอะ หลายโอกาสที่เข้ามาก็เลือกที่จะไม่เสี่ยงดีกว่า เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นแล้วเราต้องไปรับผิดชอบ แล้วเราตัวคนเดียวน่าจะแบกรับความรับผิดชอบนั้นไม่ได้”

>>> (สบ) โอกาสของความโดดเดี่ยว
นอกจากการเชื่อมโยงสายสัมพันธ์เพื่อเข้าใจแพะอย่างถ่องแท้ หนึ่งในความอภิรมย์ของวัต คือการเปิดโอกาสให้ตัวเอง ได้ทำความเข้าใจกับคน ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อนำกลับมาพัฒนาธุรกิจให้ดียิ่งกว่าเดิม
“ทีนี้พอสิ่งที่มันต้องหามาเพิ่มในขณะที่เราอยู่คนเดียว แน่นอนมันเป็นช่องทาง เป็นโอกาสให้เราได้หาความรู้เพิ่มเติมในสภาวะใหม่ ในสภาพแวดล้อมใหม่ที่มันปรากฏชัดขึ้นหลังจากอยู่กับโควิดมายาวนาน ก็มีทั้งได้เรียนออนไลน์ ได้เข้าคอร์สอบรมที่เข้าไปแล้วมีโอกาสเติบโต ก็หนักเหมือนกันเพราะกลางวันก็อยู่ทำงานในฟาร์ม กลางคืนก็ต้องมาเรียนหน้าจอ เราก็ได้รู้ว่า ธุรกิจอื่นก็มีปัญหาเหมือนกัน ไม่ใช่เฉพาะเรา”
“มันมีประโยชน์สำหรับนำมาคิดว่าเราจะไปทรงไหนกันต่อ เพราะว่ารูปแบบเดิมมันคงไปไม่ได้แล้ว ในปัจจุบันนี้ก็คิดว่าคงอีกเป็นปี ก็ได้คิดออกแบบให้ออนไลน์เป็นรายได้หลักไปเลย ตอนนี้เราก็รู้ว่าเรามีข้อด้อย ข้อเสียเปรียบ หรือว่าเราไหวแค่ไหน บางทีกลับมาวิเคราะห์ต้นทุนแล้วว่า เราแข่งขันไม่ได้ก็จะไม่ไปช่องนั้น เพราะกำลังการผลิตของเราก็จะดำเนินไปได้ในสเกลเล็กอยู่ดี”
“ที่เราไม่ค่อยได้ทำการประชาสัมพันธ์ในวงกว้างเพราะอันดับแรก เรามีเวลาน้อยมาก อีกเหตุผลก็คือ ผลผลิตที่มันมีไม่พอกับตลาดแมส เราก็เลยคุยกันกับลูกค้าแค่ในกลุ่มไลน์ หรือในกลุ่มเฟสบุคในจังหวัด อย่างตอนนี้ก็จะมีกลุ่มลูกค้าขาประจำจากมาร์เก็ตเพลสต่างๆ ที่เรากรองไว้ เราก็สื่อสารแบบเฉพาะกลุ่ม เรียกว่าพอดีกับผลผลิตที่เรามี”

>>> ประตูบานใหม่ที่ถูกเปิดออก
อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบล นักประดิษฐ์และนักวิทยาศาสตร์เคยกล่าวไว้ว่า “เมื่อประตูบานหนึ่งปิดลง ประตูอีกบานหนึ่งจะเปิดขึ้น แต่คนเรามักจะมัวอาลัยอาวรณ์กับประตูบานที่ปิดลงแล้ว จนมองไม่เห็นประตูอีกบานที่เปิดรอเราอยู่” สำหรับบุญบูรณ์ ประตูบานใหม่ที่ก้าวข้าม นำมาซึ่งการแก้ปัญหาและโอกาสในการเจริญเติบโตของธุรกิจ
“พอก้าวไปสู่ระลอกสองระลอกสาม มันมีโอกาสที่เข้ามาที่ได้ทำงานกับมหาวิทยาลัย แล้วเราก็เพิ่งมารู้ตัวเองว่าเราคุยกับนักวิชาการ นักวิจัย รู้เรื่องกว่าคุยกับผู้ประกอบการ แล้วเขาสามารถที่จะส่งเราไปได้สะดวกกว่า และเราก็สบายใจที่จะไปกับเขา ถึงมันจะไม่ได้โตเร็ว ไม่ได้ส่งผลทันตาเห็น แต่มันก็ทำให้เราถอยกลับมาที่เรื่องฟาร์มมากกว่าเรื่องการทำสินค้า”
“เพราะว่าช่วงที่ผ่านมา ก่อนที่จะได้เรียนพอแล้วดี เราไปเห่อกับการทำสินค้า ออกไปโชว์จนกระทั้งทำให้เรื่องฟาร์มมั่นรั่ว พอเราสะอึกกับตรงนั้น ก็รู้สึกว่าต้องกลับมาตั้งต้นใหม่ ฟาร์มเราต้องแข็งแรงก่อน พื้นฐานสำคัญคือที่ฟาร์ม ไม่ใช่ข้างนอก พอโควิดมันลากพาเข้ามา เรารู้จักตัวเองมากขึ้น ก็เลยคิดว่าคนที่ทำให้ฟาร์มเราแข็งแรงและถูกต้อง คือนักวิชาการ นักวิจัย ที่จะทำให้คำถามของเรามันคลี่คลาย ว่าจริงๆ แล้วเราต้องการจะทำอะไร แล้วมีใครที่เคยทำแบบนี้อยู่แล้วบ้าง เราไม่มีข้อมูลเหล่านี้เลย แต่เขามี ดังนั้นเขาจะเข้ามาเติมเต็ม หน่วยต่างๆ ก็ส่งนักวิจัย ส่งหัวข้อมาให้ มีนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอกเข้ามาทำงาน จนกระทั่งมีอาจารย์ส่งนักศึกษาเข้ามาฝึกงาน”

>>> โควิดกับความเปลี่ยนถ่าย (ที่ดีขึ้น) ของธุรกิจ
ทั้งที่ราคาสูงกว่า นมแพะมีประโยชน์กว่านมวัวอย่างไร? ทำไมคนแพ้นมวัว ถึงดื่มนมแพะแล้วไม่แพ้? หลายๆ คนคงเคยพบกับปัญหาแบบที่วัตได้เผชิญ กับการที่ไม่ว่าทำอย่างไร ก็ไม่มีคำตอบชัดเจนให้กับคำถามที่ติดอยู่ในใจอยู่เสมอ จนอาจเลยเถิดไปถึงขั้นที่ว่า หาความสุขต่อการทำสิ่งนั้นๆ ไม่เจอ และล้มเลิกไปทั้งที่ในใจยังค้างคา กลับกลายเป็นว่า สถานการณ์โควิด 19 ได้นำพาบุญบูรณ์ไปสู่การเปลี่ยนถ่ายครั้งสำคัญของธุรกิจ
“ตั้งแต่ช่วงนั้นมา เราก็มีความสุขกับวิถีชีวิตแบบนี้ ที่ได้ใช้ความสามารถ ใช้ทรัพยากรที่บุญบูรณ์มี ไปสนับสนุนทีมนักวิจัย เป็นสนามให้ทดลอง มีข้อมูลให้เก็บ โดยมีเราเป็นผู้ช่วย มันช่วยให้งานเขาก้าวหน้า งานเราก็ได้คำตอบในสิ่งที่เราเคยอยากรู้แต่ไม่มีใครให้คำตอบเราได้ ตอนนี้เรารู้แล้วว่าคนเหล่านี้ต่างสนับสนุนซึ่งกันและกันระหว่างเรากับเขา มันเลยทำให้รู้สึกว่าปีนี้ก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัด แต่อาจจะยังไม่ได้ออกมาเป็นสินค้า หรือว่าเป็นคำตอบชัดเจนเพราะอยู่ระหว่างดำเนินการ”

“อีกประเด็นข้อดีของการทำงานร่วมกับนักวิจัยคือ ความร่วมมือกันของเกษตรกรที่เลี้ยงแพะ ซึ่งกระจัดกระจายกันอยู่ มันอยู่ไกลกัน การจะร้อยรัดคนเหล่านี้เข้าด้วยกันมันต้องมีสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหา ปัญหาเดียวกันจะถูกแก้ด้วยนักวิจัยหรือนักวิชาการเหล่านี้ เขาจะเป็นแกนกลางในการนัดคุย เอาข้อมูลมาถกกัน ลงพื้นที่ไล่ตามฟาร์มไปเลย มันก็ทำให้มีความเข้าใจกันมากขึ้นระหว่างผู้ผลิตกับข้อมูลที่มีอยู่”
“อย่างเรื่องการให้ผลผลิตที่คุ้มค่ากับเกษตรกรต้องเป็นแพะแบบไหน หรือนมที่ผู้บริโภคต้องการและคาดหวังในนมแพะมากกว่านมวัวคืออะไร แล้วในนมแพะมันมีหรือเปล่า ต้องผลิตแบบไหนออกมาเพื่อให้คนต้องการมันมากขึ้น ไม่ใช่กลายเป็นแค่นมทางเลือก กินนมวัวไม่ได้ก็ต้องมากินนมแพะ มันจะมีคนกลุ่มอื่นๆ อีกที่ไม่กินนมวัว แต่เขาไม่รู้ว่ามีสิ่งอื่นๆ ที่เขาต้องการ และก็ไม่ใช่ผลกระทบทางด้านสุขภาพอย่างเดียว”
สำหรับบุญบูรณ์ “ฟาร์มแพะมีบุญ” ประตูอีกบานที่เปิดขึ้น บวกกับความเข้าใจตนเอง ที่ถึงจะเป็นธุรกิจเล็กๆ แต่ก็ผูกเกี่ยวอย่างลึกซึ้งกับกลุ่มลูกค้า จนไม่ต้องใช้เวลาสิ้นเปลืองไปกับการบริหารจัดการกับคนที่ไม่ใช่ สิ่งสำคัญคือการเข้าใจความต้องการ เข้าใจคุณค่าที่มี จนนำไปสู่การตั้งคำถามที่ถูกต้อง ค้นพบคำตอบจากคนที่ถูกควร
วิกฤติครั้งนี้อาจเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ปัญหาใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในยุคสมัยบนช่วงชีวิตของเรา แต่บางครั้งการเผชิญหน้ากับปัญหาก็กลายมาเป็นโอกาสสำคัญให้เราได้เรียนรู้เพื่อคงอยู่ต่อไปอย่างบริบูรณ์
:::
พอแล้วดี The Creator : ชญาน์วัต สว่างแจ้ง (วัต)
ธุรกิจ : บุญบูรณ์ฟาร์ม