ภูคราม กับโควิด-19

ความตั้งใจที่เจ็บปวดอันแสนงดงาม…ของภูครามกับโควิด 19

ธุรกิจเพื่อสังคมเป็นอีกความดีงามรูปแบบหนึ่งของการทำธุรกิจ เป็นการสร้างผลกำไรที่นอกจากตัวเงินจะแบ่งปันสู่สังคม ผลกำไรที่ได้ตอบแทนในอีกแง่มุมหนึ่ง มันคือความเจริญงอกงามอย่างมั่นคงของชุมชน ที่ค่อยๆ พัฒนาและรักษา วิถีท้องถิ่นไปพร้อมๆ กัน คนที่เลือกเดินบนเส้นทางนี้ นอกจากต้องมี “หัว” คิดวิเคราะห์สร้างสรรค์ เพื่อนำพาแบรนด์ให้เจริญเติบโต พวกเขายังต้องมี “ใจ” ที่จะนำพาผู้คนให้เจริญงอกงามไปพร้อมๆ กัน

สำหรับช่วงวิกฤติแบบทุกวันนี้ พูดกันตรงๆ แล้ว คนทำธุรกิจเอง แค่จะนำพาตัวเองให้ไปต่อได้ตลอดรอดฝั่งก็ว่ายากแล้ว แต่ในมุมของคนทำธุรกิจเพื่อสังคม พวกเขาต้องนำพาคนในชุมชนอีกไม่รู้กี่สิบ กี่ร้อยคน ที่ฝากความหวังไว้กับแบรนด์ มาโดยตลอดให้รอดไปด้วยกัน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

“ภูครามมีช่างทออยู่ในมือประมาณ 20 กว่าคน ทอผ้าคนละม้วนต่อเดือน ราคาอย่างต่ำม้วนละ 8,000 สูงหน่อยก็ 12,000 บาท ช่างทอส่งมาอย่างต่ำ 10 ม้วนต่อเดือน รายจ่ายก็แสนกว่า ดังนั้นแค่ค่าผ้าทอ มันก็โอเวอร์สต็อคตลอดอยู่แล้ว ระหว่างนี้ช่วงก็พูดคุยกับชาวบ้านว่าขอเป็นผ้าที่เราอยากได้จริงๆ” เหมี่ยว ปิลันธน์ ไทยสรวง เจ้าของแบนด์ภูคราม เล่าเรื่องความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันให้เราฟัง

ภูครามเป็นแบรนด์ผ้าที่เหมี่ยวตั้งใจทำขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะต้องการให้คนภูพาน รัก หวงแหน และอยากถ่ายทอด ความเป็นท้องถิ่นของตัวเอง ผ่านผ้าฝ้ายย้อมครามอันเลื่องชื่อของสกลนคร ประกอบเข้ากับลวดลายสวยงาม แบบตรงไปตรงมา ที่ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติรอบตัวของช่าง ที่สำคัญ ทุกคนที่เป็นส่วนหนึ่งของภูคราม ล้วนแต่เป็นคนในพื้นที่ภูพานเองทั้งหมด

>>> ปรับแต่ไม่เปลี่ยน

“ จริงๆ ตั้งแต่โควิดที่ผ่านมาชาวบ้านก็รู้สถานการณ์บ้านเมืองพอสมควร แล้วก็มาไถ่ถามเหมือนกันว่าเรายังขายได้ไหม ไม่ว่าจะเป็นช่างทอ ช่างปัก ซึ่งระลอกแรกระลอกสองเรายังไม่ได้กังวลมาก ก็ยังขายได้อยู่จนกระทั่งมารอบล่าสุด ขายยากขึ้น เพราะคนไม่มีกะจิตกะใจจะซื้อของ เพราะว่าเศรษฐกิจมันแย่ลง”

“รอบแรกภูครามก็ประเมินสถานการณ์ว่า จากที่เราไม่ได้ไปออกบูท ไม่ได้ไปเจอใคร ปรับตัวขายออนไลน์มากขึ้น จากเดิมที่เคยทำออนไลน์แค่ 20% ก็เพิ่มขึ้นเป็น 80% มานั่งคิดวิธีการกระบวนการที่จะขายออนไลน์มากขึ้น แต่ขายออนไลน์เหนื่อยมาก เหนื่อยกว่าการออกบูท คือออกบูทเราทำแค่โปรโมทเป็นบางชิ้น เล่าเรื่องเป็นบางชิ้น แต่ว่าออนไลน์ ด้วยความที่ภูครามเป็นมาสเตอร์พีช มันก็เลยต้องมานั่งทำทุกอัน ด้วยความที่การนำเสนองานภูคราม คือเบื้องหลังของภูครามทำเยอะมาก ถ่ายรูปทุกชิ้น รายละเอียดทุกอย่าง บันทึกทุกชิ้น ไม่ว่าจะพันชิ้น หมื่นชิ้น มันต้องผ่านการบันทึกหมดเลย ใครทำยังไงอะไร ถ่ายรูปบันทึก บันทึกเรื่องราว นั่นคือเป็นก้อนใหญ่ที่เราทำอยู่แล้ว แล้วก็พอขายออนไลน์ การตอบรับของลูกค้าภูครามยังดีอยู่”

>>> มาสเตอร์พีชที่ไม่ใหญ่โตแต่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ

หลายๆ ครั้งที่เราเห็นแบรนด์ที่พยายามดิ้นรนเปลี่ยนแปลง อย่างไม่เข้าใจตัวเอง จนนำมาสู่สถานการณ์ของธุรกิจ ที่แย่ลงมากกว่าจะเดินต่อได้ในทางที่ดีขึ้น แต่สำหรับภูคราม ความเข้าใจตัวเองและไม่ปรับไปเป็นสิ่งที่แบรนด์ไม่ใช่ เป็นเกราะป้องกันอย่างดี ที่ทำให้ภูครามยังมีชีวิตรอดต่อไปได้

“ ภูครามจะมีความเป็นมาสเตอร์พีชอยู่ มีความเป็นงานมือ มันไม่ได้เยอะมาก ดังนั้นข้อดีของงานภูครามคือ จำนวนไม่เยอะอยู่แล้ว การขายเราเลยไม่ต้องทำจำนวน หรือไม่จำเป็นจะต้องเร่งขาย”

“สินค้าภูครามมันไม่มีถูกลงนะ มีแต่แพงขึ้น ที่แพงขึ้นเพราะว่าฝีมือของชาวบ้านจากศูนย์ เราขายสินค้าที่ถูกฝึกมาจน กระทั่งฝีมือพรีเมี่ยม ดังนั้นสินค้าของภูครามจะไม่ถูกลงเลย งานชาวบ้านอย่างงานของภูครามมันไม่ควรจะลดราคา เพราะมันเป็นงานฝีมือ งานสร้างสรรค์ เป็นงานที่เรารู้สึกว่าเป็นงานศิลปะ ก็เลยไม่ลดแต่ใช้วิธีทำจำนวนให้น้อยลง แล้วก็ไปทำส่วนอื่นให้เป็นการหมุนเวียน”

“อย่างผ้าทอก็บอกชาวบ้านว่า อย่าเพิ่งผลิตเพิ่ม ให้เอาสินค้าเดิมที่เรามี มาแปรรูปขาย แปรรูปให้มันหลากหลายที่สุด ไม่ใช่ผลิตเพิ่มให้ไปสร้างต้นทุนใหม่ แต่เอาต้นทุนเก่ามาแปรรูปเป็นการช่วยกันเอง พึ่งพากัน เราไม่ได้ทิ้งชาวบ้าน แต่ก็คือให้ภูครามเป็นตัวสนับสนุนด้านนี้ไปเลย เหมือนให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ ว่าสินค้าที่เขาทำมันเป็นที่ต้องการไหม ใครอยากขายก็ขายในเพจ ฉันภูพาน”

>>> ฉันภูพาน

จากที่เคยสัมผัสกับแบรนด์ที่ทำงานร่วมกับชุมชน สิ่งหนึ่งที่แทบเป็นปกติของคนทำแบรนด์แบบนี้คือ “ใจ” ของพวกเขา มักจะใหญ่กว่าสิ่งใดทั้งหมด ซึ่งผลกระทบที่ตามมา คือการต้องออกแรงอย่างสุดกำลังเพื่อให้สินค้าขายได้ พอมีกำไรมาทบต้นทุนที่ตัวเองแบกรับ

แต่ครั้งนี้ภูคราม เลือกที่จะทำสิ่งที่ต่างออกไป เพราะวิกฤติโควิดเป็นปัญหาระดับโลกอันใหญ่หลวงเกินกำลัง กว่าที่แบรนด์ชุมชนแบรนด์หนึ่ง จะรับภาระได้เพียงฝ่ายเดียวเหมือนเช่นก่อน

“พอรอบ 2 การเข้ามาของคนที่จะติดโควิดมันดูง่ายดาย มันดูไม่ได้มีความรัดกุมอะไร หายได้ก็มาใหม่ได้ วันนี้เริ่มรู้สึกว่ากลับมาวางแผนใหม่เยอะ เราเลยทำโปรเจคสนับสนุน โดยเป็นการถอดรูปแบบของภูคราม ให้เด็กๆ ลงชุมชนชัดเจนในชื่อของฉันภูพาน”

ฉันภูพาน เป็นโปรเจคที่ถอดบทเรียนมาจากประสบการณ์การทำงานของภูคราม  โดยให้ชาวบ้านเป็นคนเริ่มคิด ตั้งแต่การออกแบบ ตัดเย็บ ปักลาย ด้วยจิตวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ปรุงแต่ง เพราะภูครามไม่ได้คิดแต่เพียงว่า ทุกคนต้องทำงานให้ภูครามไปตลอดทั้งชีวิต

“ภูครามมันไม่ใช่กลุ่มใหญ่มาก มีสมาชิกประมาณ 80 คน ซึ่งหมายรวมถึง ช่างทอ ช่างปัก ช่างตัดเย็บ ตอนนี้ช่างตัดเย็บก็ให้ออกแบบเสื้อผ้ามาขายในเพจฉันภูพาน คือทุกคนสร้างสรรค์งาน แนวคิดคือ อยากให้คนที่ออกแบบใช้ผ้าของชาวบ้านด้วย เป็นการสนับสนุนหมุนเวียนกันเองด้วย ให้มันเกิดการหมุนเวียน ในกลุ่มและผลักดันช่วยกันเอง ไม่เช่นนั้นมันจะไม่มีพลังที่เราจะช่วยกันในกลุ่ม เป็นเจตนาของภูครามที่ให้ สถานการณ์ช่วยตะล่อมให้ชาวบ้านได้ฝึกคิด โดยที่ภูครามเป็นคนโปรโมทให้ ถ่ายรูปให้ ยังขายของให้อยู่เป็น การช่วยกันไปก่อน เราอาจจะไม่ได้รับงานผ้าทอของชาวบ้านแบบ 100% เหมือนเดิม แต่เรายังมีพื้นที่ขายให้ ในอนาคตคือชาวบ้านต้องมาขายเอง”

ทุกวันนี้ “ฉันภูพาน” กลายมาเป็นอีกช่องหนึ่งทางสำคัญ เป็นพื้นที่ “ปล่อยของ” ของชาวบ้าน โดยอีกนัยหนึ่ง สิ่งที่ชาวบ้านทำก็ไม่ต้องถูกเทมาให้ภูครามแบกรับ 100% เรียกว่าเป็นการวางแผนที่ภูครามได้ทำงานร่วมกับชุมชน ชาวบ้านก็ได้รายได้ เต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วย ถือว่าเป็นการพึ่งพากันอย่างพอดี

>> ความตั้งใจที่เจ็บปวด

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะพูดให้สวยหรูอย่างไร เราก็รู้สึกได้ถึงความเจ็บปวดที่เหมี่ยวซ่อนไว้ในน้ำเสียงและแววตา ทุกครั้งที่พูดถึงการปรับตัวอย่างที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ของภูคราม

“ต้องแข็งใจไว้นะ เขาอาจจะรู้สึกว่าเราไม่รับผ้าไปทำกับคนอื่นได้ไหม เราก็ยินดี เราไม่เคยแบบว่าทุกคนต้อง ไม่ไปไหนจากเรา ในช่วงโควิดสำคัญเลยคือการปรับตัว ในสถานการณ์แบบนี้คือ ถ้าไม่ปรับตัวมันก็อยู่ยาก ถ้าเราต้องการจะพาคนอื่นไปให้ได้ เราก็ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ เราเคยคิดว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญ แต่พอสถานการณ์แบบนี้คือ ปรับตัวและตั้งสติ และต้องยืดหยุ่นด้วย”

“เรารู้สึกว่าเป็นแนวคิดที่สนับสนุนให้ชาวบ้าน ให้คนที่ทำงานกับภูครามได้พึ่งพาตัวเอง ได้เห็นคุณค่าตัวเอง และได้มีแนวคิดที่จะพัฒนาตัวเองจริงๆ ไม่ใช่แค่พึ่งพาคนอื่น สุดท้ายแล้วแม้กระทั่งภูครามเอง ในอนาคตหรือ อะไรก็ตามแต่ มันอาจจะไม่ได้อยู่ตลอดกาล ดังนั้นเขาต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ แล้ววิกฤติแบบนี้เราก็รู้สึกว่าตัวเขาเอง เราเอง ก็ต้องให้โอกาสเขาที่จะพึ่งพาตัวเองด้วย คือต้องยอมใจแข็งที่จะบอกว่ามันไม่ได้นะ ไม่เช่นนั้นมันก็ตายหมู่ จะโอบเอาทุกคนไม่ได้ทั้งๆ ที่สถานการณ์มันแย่”

“อย่างภูครามแต่ก่อนมีช่างปัก ไม่รวมช่างตัดเย็บ ช่างทอ ประมาณ 120 คน ถ้าปัจจุบันยังอยู่ ภูครามน่าจะตาย ดังนั้นมันเลยเป็นความตั้งใจที่เจ็บปวด มันก็เจ็บปวดกันทั้งนั้น เกือบครึ่งเขาก็ออกไปทำของเขาเอง ไปปักให้คนอื่น ไปทำแบรนด์ของตัวเอง ตอนนี้ช่างปักเหลือประมาณ 40 – 50 คน แต่มีแต่ฝีมือชั้นครู คนที่เรียนรู้เข้มข้นมาด้วยกัน มันจะมีความผูกพันธุ์แล้วก็ได้ฝีมือ และที่สำคัญเป็นคนในพื้นที่ทั้งหมดไม่มีคนนอก พอมาปัจจุบันก็ต้องขอบคุณ สถานการณ์ที่มันเกิดขึ้นมากๆ เพราะไม่เช่นนั้นภาระหนักจะมาตกอยู่ที่เรา”

>>> ของขวัญล้ำค่าจากฟ้า

การทำแบรนด์เพื่อสังคม ไม่ว่าอย่างไรเสีย การเรียนรู้ การพัฒนา และการเปลี่ยนแปลง คงต้องเกิดขึ้นอย่างที่เรียกว่า เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชุมชนเอง โดยที่ในเรื่องนี้ “โควิด” อาจเป็นเพียงตัวเร่งหนึ่งที่ทำให้ภูครามเปลี่ยนแปลง เร็วกว่าปกติเพียงเท่านั้น สิ่งหนึ่งที่เหมี่ยวบอกกับเราซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่คอยหล่อเลี้ยงคนทำแบรนด์ชุมชน ที่เราสัมผัสได้จริงๆ ก็คือ ข้อสรุปในตัวเองบางอย่าง ที่คนๆ นั้นได้รับต่างหาก ที่เป็นสิ่งสำคัญในช่วงวิกฤติแบบนี้

 “สิ่งสำคัญที่สุดเรารู้สึกว่า สิ่งที่เราทำมันไม่ได้แย่ แล้วลงมือทำเมื่อมีโอกาสทันที แล้วก็ดูผลตอบรับว่าดีไม่ดี ดีก็ทำต่อ ไม่ดีก็ย้อนกลับไปหาทางใหม่ สำคัญคือเราต้องทำ เพระถ้าไม่ทำมันก็ไม่เห็น โดยเฉพาะงานที่ทำร่วมกับคน ดูเหมือนงานชุมชนเป็นงานที่ใช้ชีวิตช้าๆ ภูครามเป็นชื่อที่ดูเรียบง่าย ดีงาม แต่จริงๆ แล้ว พลังงานข้างในของมันคือ ลุย ชน แบบนั้นมากกว่า”

“ความสุขมันไม่ได้เปลี่ยนไปมาก คือจริงๆ ภูครามนี่เป็นเครื่องมือมนุษย์ที่ได้เรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นจริงไม่ว่าจะเป็น เรื่องเศร้าหรือเรื่องดี แต่มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นและเราไม่ได้รังเกียจมัน มันสร้างให้เราเติบโตโดยเฉพาะตัวเราเอง พอเราเติบโตด้วยตัวเราเอง เราจะทำให้คนอื่นได้เดินไปด้วยกันได้”

“การทำภูครามมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มันโคตรเป็นของขวัญจากฟ้าที่โยนมาให้เราได้เรียนรู้ และก็ความสุขมันยังคงมีอยู่เสมอและความทุกข์ก็ยังคงอยู่เสมอในเส้นเดียวกัน ทั้งสุข ทั้งทุกข์ แต่มันอาจจะมาในรูปแบบแตกต่างกัน มันได้เรียนรู้ อย่างแต่ก่อนความสุขของเราคือ เรารู้สึกว่าเราเป็นผู้ให้ ช่วงที่เราทำภูครามใหม่ๆ ช่วงหลังเรารู้สึกว่า เราเป็นผู้รับ”

จากนักประวัติศาสตร์ที่กลับมาสร้างแบรนด์เพื่อสังคม เพื่อชุมชนของตัวเอง ถึงตอนนี้ความสำเร็จของเหมี่ยว คงไม่มากเกินไปที่จะบอกว่า “ภูคราม” ได้เขียนประวัติศาสตร์บทใหม่ ประวัติศาสตร์ความเจริญงอกงาม ที่มาจากรากเหง้าของคนภูพาน ส่งต่อผ่านผืนผ้าสู่ผู้คน

เหมือนกับลายปักเอกลักษณ์ของภูคราม ที่หลายๆ คนคิดว่าเป็นลายดอกไม้หลากสีสวยงาม แต่เหมี่ยวบอกกับเราว่า จริงๆ มันคือบทบันทึกของดวงดาวประกายแสง ที่คนภูพานเห็นได้ทุกครั้งเมื่อแหงนมองขึ้นไปบนท้องฟ้ายามค่ำคืน

และไม่ว่าวิกฤติจะเข้ามา คงอยู่ หรือผ่านพ้นไป ดวงดาวประกายแสงบนท้องฟ้า จะยังมีให้เราเห็นอยู่เสมอ

:::

พอแล้วดี The Creator : เหมี่ยว – ปิลันธน์ ไทยสรวง

ธุรกิจ : ภูคราม