ภูมิคุ้มกันจากธุรกิจเดิม สร้างโอกาสใหม่เพื่อเราและชุมชน

เรื่องราวของ The Grocery Yard รถพุ่มพวงสีส้มคันเล็กๆ สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนในยามวิกฤตที่ไร้ซึ่งโอกาส ราวกับว่า นี่คือตัวอย่างของแสงสว่างที่เปล่งประกายให้ใครอีกรายคนไม่ยอมแพ้ต่อสถาณการณ์โควิด-19 จากที่พักโฮสเทล (The Yard Hostel) ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาพักไม่ขาดสาย จนไม่มีเหลือแม้แต่คนเดียว วิธีคิดและรับมือน่าจะเป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากคนตัวเล็กๆ ที่รวบรวมทีมงานทุกคนให้ลุกขึ้นสู้อีกครั้ง ส้ม – อติพร สังข์เจริญ พอแล้วดี The Creator รุ่น 2 จะทำอย่างไรในเมื่อยังมีทีมงานที่ The Yard ที่เขาต้องดูแล พวกเขาอยู่ในย่านอารีย์ที่เป็นชุมชนที่เข้มแข็งมากๆ และที่สำคัญ เครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ที่รู้จักกันดี 3 องค์ประกอบสำคัญที่เราอยากให้ทุกคนได้เรียนรู้

ทำไมถึงลุกขึ้นมาทำกิจกรรมประมาณนี้? แล้วทำแบบรู้จักตัวเอง มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกันขนาดไหน?

ทำอย่างรู้จักตัวเอง พี่ว่าเหมือนกับว่า ตอนที่เราคิด ตอนที่เกิดปัญหา เราก็คิดแบบที่มันใกล้ตัวเรา เลยคิดว่า จริงๆ เรามีทีม เรามีเพื่อนที่เป็นเกษตรกร เรามีชุมชนที่แข็งแกร่ง ก็เลยคิดว่า เอาสามอันนี้มาร่วมกันได้อย่างไร ก็เลยเกิดว่า จริงๆ แล้วทุกคนก็มีปัญหาเรื่องอาหาร การเดินทาง เราก็รวบมาเป็นโปรเจ็กต์ใหม่ของเรา และรูปแบบการทำธุรกิจของเราคือ “ระยะทางรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร” นั่นหมายความว่า ธุรกิจเราจะทำอยู่ในที่ ๆ เป็นชุมชน เดินทางสะดวก เพราะถ้าทำเป็นธุรกิจขนาดใหญ่แล้ว สิ่งที่ตามมาคือทรัพยากรมนุษย์ใช้เยอะขึ้น บรรจุภัณฑ์ที่ใช้มีมากขึ้น และมลพิษจากการเดินทางก็จะมีมากขึ้นด้วย จึงเกิดเป็นธุรกิจที่เรียกว่า “The Grocery Yard รถพุ่มพวงสีส้ม” หรือ บ้านญาติร้านชำ

หลักการโดยการใช้เหตุและผลของคุณคือมีหลักคิดอย่างไร?

พอเราคิด เราก็คิดว่าจริงๆ แล้วสมมติว่าเราใช้โปรดักส์จากเพื่อนๆ เรา เราไม่ได้มีรายได้จะไปจ่ายเงินเดือนเขาแล้ว เราก็คิดว่าจะทำอย่างไรที่เหมือนกับว่าถ้าเงินเราไม่มีแล้ว เหตุผลของการใช้เงินก็จะต้องลำบากมาก เราก็เลยคิดว่าอย่างไรซะ ตรงนี้เป็นเรื่องที่แบบเราไม่ได้ลงทุนและมีความเสี่ยงหนัก เราก็เลยคิดว่าเราทดลองได้ เพราะในปัจจุบันนี้เหตุการณ์มันเปลี่ยนทุกวัน มันไม่มีอันไหนที่บอกได้ว่าอันไหนถูกอันไหนผิด เราก็คิดแค่ว่าถ้าเราได้ทดลอง เราคงได้เรียนรู้ ได้เห็นบางอย่างอยู่แล้ว อันนี้ก็น่าจะคุ้มค่าแล้ว คิดอย่างนั้น และเราเองก็อยู่ในสังคมที่มบริบทที่เกื้อกูลกันสำคัญคือเรื่องของเพื่อนๆ และชุมชนเราในอารีย์เป็นหลักเลย

โปรเจ็กต์นี้ มันอาจจะเหมาะกับตรงอารีย์ มันไม่ได้หมายความว่า คนอื่นเห็นคุณทำ แล้วลุกขึ้นไปทำ แต่อาจจะต้องดูบริบทด้วยระดับหนึ่ง?

ใช่ เพราะว่าเราก็คิดอยู่ ที่เรายังบอกว่า ถ้าเรายังอยู่ที่ทองหล่อ เราไม่แน่ใจว่า เราจะทำได้หรือเปล่า หมายถึงว่าถ้าอยู่ย่านอื่นจะทำโปรเจ็กต์แบบนี้ได้หรือเปล่า เราเห็นแล้วว่า ชุมชนตรงนี้มีศักยภาพที่จะทำเรื่องอาหารที่ดีได้ ก็มีความเฟรนด์ลี่

สิ่งที่คุณสังเกตเห็นได้ เมื่อคุณเริ่มลงมือทำในย่านชุมชนที่คุณเข้าใจเป็นอย่างดีคืออะไร?

มีความน่ารักมาก ตอนแรกเราก็ไม่ได้คิดอะไร เราก็รู้แค่ว่า ชุมชนเราเวลาเดินออกไปข้างนอกมีคนทักกัน แต่ว่าเอาเข้าจริง เราออกไปขายของ บางทีของบางอย่างเราได้มาฟรี มีเพื่อนให้มา ริวกิวจากศรีราชา จากเกาะสีชัง เอาไปให้คุณป้าที่เป็นร้านหนังสือพิมพ์ ซึ่งปัจจุบันก็ไม่มีแล้ว เราก็เอาไปให้ ป้าเอาปลาริวกิวมาฝาก แกก็แบบว่า ไม่เป็นไรๆ อยากอุดหนุน เราก็บอกว่าเราได้มา อยากมาแบ่ง ปรากฎแกก็ขายมะม่วงอยู่ด้วย ก็เลยเอามะม่วงใส่มือเราให้เอากลับมา ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้พูดเรื่องการเอาตัวรอดจากวิกฤติด้วยธุรกิจอย่างเดียว เรากลับได้เห็นว่าจริงๆ แล้วมันเรื่องของความสัมพันธ์ที่แบบสุดท้ายแล้วในอนาคตมั นจะเชื่อมกับธรุกิจโฮสเทลของเราได้อย่างไร

นอกจากที่เราทำอย่างรู้จักตนเอง มีเหตุและผล และมีภูมิคุ้มกันแล้ว การที่ลุกขึ้นมาทำเรื่องพวกนี้ ทำแล้วได้อะไร? นอกจากที่จะทำแล้วให้น้องๆ ได้มีเงินในระดับหนึ่ง มันมีเรื่องอื่นอีกไหม?

เราว่าอย่างหนึ่งที่เราได้ ก็น่าจะเป็น อย่างตัวโปรเจ็กต์นี้ เราคุยกับน้องกับทีมว่า ถ้าสมมติว่ามันเติบโตได้ ขยับขยายไปได้ ทุกคนตรงนี้คือ Co-Founder เขาไม่ได้เป็นพนักงาน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาทำ เพื่อมันจะเป็นอนาคตของเขาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราได้กับตัวองค์กรคือ ทุกคนได้ฝึกคิด ฝึกทำ ได้ทำของเขาเองจริงๆ เราก็ได้เรียนรู้ ได้เติบโต ส่วนถ้าเป็นของภายนอกก็คิดว่า เราออกไปข้างนอก ด้วยบรรยากาศของที่เราตั้งใจ ไม่ให้ซีเรียส ดราม่า เพราะทุกคนก็เครียดมากอยู่แล้ว พอรถแดงนี้ออกไป ก็กลายเป็นสีสันให้กับชุมชน แล้วกลายเป็นตัวเชื่อม เพราะว่าในแกนของ The Yard ต้องการเป็นคนที่เชื่อมคน เพื่อที่จะทุกคนเป็นพี่น้องกันอยู่แล้ว มันก็แค่เปลี่ยนจากนักท่องเที่ยวกับเรา ก็เป็น Small Business กับชุมชน เราคิดว่า เราทำการเชื่อมโยงตรงนี้ได้มากขึ้น

ตอนนี้ธุรกิจของคุณเจออุปสรรคอะไรบ้าง?

อุปสรรคของโฮสเทล คือ นักท่องเที่ยวเดินทางไม่ได้ คนไม่สามารถอยู่ร่วมกันในห้องเดียวกันได้อีกแล้ว ก็เป็นปัญหาที่ในอนาคตเราต้องหาทางปรับเปลี่ยนแก้ไข ว่ามันจะต้องออกไปในทิศทางไหน จริงๆ ส่วนของการเดินทาง ก็คงจะเกี่ยวกับภาครัฐเรา ทางต่างประเทศเงื่อนไขเขาเป็นอย่างไร จะกลับมาได้จริงๆ เมื่อไหร่ อย่างหนึ่งใช่ไหม ในส่วนที่พวกเราต้องเตรียมพร้อม เรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ โรคติดต่อ การที่คนจะมานอนรวมกัน 6 คนอาจจะเป็นไปไม่ได้แล้ว หรืออาจจะเป็นไปได้ยากแล้ว วิธีการปรับปรุงห้องพัก หรือเรื่องความปลอดภัยเรื่องสาธารณสุขจะเป็นอย่างไรต่อ ก็ต้องกลับมาคิด

แล้วการเป็นพอแล้วดีมันช่วยให้รับมือกับสถานการณ์ COVID-19 นี้อย่างไร? หมายถึงตัวบ้านญาติร้านชำ

มันช่วยให้เราคิดเป็นระบบมากขึ้น เพราะว่าอย่างตอนแรก ถ้าสมมติเราไม่ยอมทิ้งปัญหาเลย เราไม่คิดว่ามันมีปัญหาที่มันควบคุมไม่ได้ แล้วเรายังจะทำอยู่ เรายังจะพยายามไปแก้ปัญหาที่มันแก้ไม่ได้ หรือว่าเราไม่ได้รู้เลยว่า มันควรจะทำอะไร คือไม่ได้กลับมามองตัวเองหรือมองรอบข้าง คือว่ามันก็ยากแล้ว กับอีกแบบหนึ่ง เราคิดว่าตอนแรกที่เราได้เรียนรู้เรื่องของพอแล้วดี เราคิดว่า ในห่วงของภูมิคุ้มกัน มันช่วยเราในสถานการณ์ ณ วันนี้ได้เยอะมาก เพราะว่าในตอนที่ก่อนหน้านี้ เราก็พูดเรื่องย่านอารีย์มาระดับหนึ่งอยู่แล้ว ตอนนี้มันกลายเป็นว่า สิ่งที่ได้ย้อนกลับมาคือ ทั้งเพื่อนๆ ที่เป็นเกษตรกรในชุมชนย้อนกลับมาช่วยให้เราอยู่รอดได้ระดับหนึ่งในปัจจุบัน

วิธีปรับตัวและปรับธุรกิจในระยะยาวถ้านักท่องเที่ยวไม่กลับมา?

เราว่า คนก็จะยังไม่กลับมาเหมือนเดิม น่าจะอีกยาวนาน แต่ว่าตอนนี้ที่เราปรับ คงจะต้องปรับห้องพัก เมื่อก่อนอาจจะรับได้ 60 คน ซึ่งเราอาจจะต้องปรับห้องพักเราให้เหลือไม่เกิน 40 คน คือ ห้องนอนรวมไม่มีแล้ว กลายเป็นห้องไพรเวท ซึ่งพอเราจับจำนวนคนที่น้อยลง เป็นไปได้ที่ห้องพักจะเกือบเต็ม อาจจะเป็นไปได้ อีกอย่างหนึ่งคือ เรื่องของร้านชำ เราก็ไม่ได้คิดว่าจะทำแค่ตอนวิกฤติ เพราะตอนนี้เริ่มเห็นทาง เริ่มขยับขยายว่า จะทำอะไรต่อไป เช่น ณ ตอนนี้คิดว่า อาจจะทำร้านชำง่ายๆ ที่อยู่ในบ้านเรา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เราไม่ได้มีค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่ม ก็อาจจะใช้ทรัพยากรที่เรามีอยู่ เช่น พอเราเปิดร้านชำ เราอาจจะขอของจากผู้ผลิตรายย่อยมาใช้ พอเราทำมาหากินกับคนที่อยู่ใกล้ๆ ในย่านเดียวกัน อยู่ใน 3-5 ตารางกิโลเมตรจากบ้านเรา สิ่งที่เป็นประโยชน์ คือว่า เราได้แพ็คเกจจิ้งกลับมาเกือบหมดเลย เราก็เลยรู้สึกว่า จริงๆ แล้ว ถ้าโฮสเทลอยู่ในระดับที่ยังไงรายได้ก็ลดลงอยู่แล้ว แต่ถ้าเรามีตัวนี้เติมออกมา ตัวน้องๆ เขาก็จะมีงาน มีรายได้ที่มากขึ้น

ทำอย่างไรที่ธุรกิจใหม่อีกขาหนึ่งของเราจะไม่ไปเบียดเบียนรถพุ่มพวงแบบเดิม หรือเราเป็นร้านที่คัดสรรของจากความตั้งใจเป็นหลัก?

ใช่ ซึ่งจริงๆ เราก็ได้เรียนรู้ใหม่ ล่าสุดเราก็ได้เรียนรู้อย่างหนึ่งคือ ถ้าจะพูดว่า เกษตรกรไม่ใช่ทั้งหมด จริงๆ อาจจะไม่ใช่สินค้าเกษตรก็ได้ แต่เป็นสินค้าอย่างหนึ่งที่เป็นเกณฑ์คัดเลือกอย่างหนึ่ง คือ ผู้ผลิตต้องมีหัวจิตหัวใจที่ดี อย่างเช่น เราไม่ได้ขายแต่ผลผลิตไม้ ตอนนี้เราก็ขาย Ginger Ale (ของแบรนด์กินได้ดี) เราก็เชื่อว่า แบรนด์นี้ตั้งใจทำมา เราก็ขายของ HUG ORGANIC ด้วย ทุกคนที่เรามั่นใจ แล้วตอนนี้แผนต่อไปที่เราอยากจะทำ คือ เราอยากทำซูเปอร์มาร์เก็ตหรือว่ารถชำ คือเรื่องขยะ ตั้งแต่ The Yard เราก็คิดอยู่แล้วว่า ญาติของเราก็คือเรื่อง Planet ด้วย เรื่องโลกใบนี้ก็เป็นพี่น้องเรา ทีนี้ เราก็คิดว่า ต่อไปเราจะทำเรื่องแพ็คเก็จจิ้งอย่างไรดี แต่ว่าเราก็จะไม่ได้พูดเรื่องรีฟิล เพราะว่าคนอื่นก็พูดเรื่องรีฟิลเยอะแล้ว คิดว่าจะทำอย่างไรกับการจัดการเรื่องคอนเทนเนอร์ให้คืนกลับมาให้ได้ ซึ่งอย่าง Ginger Ale ของวีอย่างนี้ พี่ก็ได้ขวดคืนมาเยอะมาก คืนวีไปทีหนึ่งเป็นลังๆ เหมือนกัน ตอนนี้เราก็เริ่มแบบถ้ามีโซดาหรือมีน้ำ หรืออะไรก็ตามที่คนต้องซื้อแล้ว วันเวย์ต้องทิ้ง มันเยอะมาก เรารียูสได้ไหม เราก็พยายามคิดเรื่องโปรดักต์อื่นๆ ออกมาในแบบนั้นด้วย