โรงแรมศิวาเทล กับโควิด-19

ในช่วงวิกฤติโรคระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลก การเดินทาง การท่องเที่ยวหยุดชะงัก ธุรกิจลำดับต้นๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หนึ่งในนั้นคือ ธุรกิจโรงแรม ยิ่งเป็นโรงแรมที่มีขนาดใหญ่เท่าไร ผลกระทบก็ยิ่งขยายวงกว้างเท่านั้น

โรงแรมแห่งความยั่งยืน การรู้จักตนที่งอกเงยไปพร้อมคุณธรรม

“ แต่ก่อนทุกคนบอกว่า ด้วยพื้นที่ ทำเลที่ตั้ง ศิวาเทลควรเป็น Luxury Hotel แต่มันขัดกับความเป็นครอบครัวเรา เพราะที่บ้านเรา Low Profile มากๆ สมถะมากๆ แล้วโรงแรมหรูมีคนทำ “ใหม่กว่า สวยกว่า” เกิดขึ้นทุกวัน พอตัวเองแยกไม่ออก ลูกค้าแยกไม่ออก ก็จะตกไปอยู่ในสงครามราคา หลังจากเรียนพอแล้วดี โรงแรมศิวาเทล ก็ไม่ได้เป็นแค่ Business Hotel อีกต่อไป แต่เราต้องการเป็น Wellbeing & Sustainable Community ”


ศิวาเทล เป็นโรงแรมขนาด 75 ห้อง ที่ตั้งอยู่ใจกลางพื้นที่ที่ถูกเรียกว่า แพงที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร กับทีมงานร้อยกว่าชีวิต แต่ก็เหมือนกับอีกร้อยพันหมื่นธุรกิจ ที่วิกฤติโควิด ได้สร้างแรงกระเพื่อม จนต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่ออยู่รอดให้ได้ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล มันมีจุดเริ่มต้นมาจาก “การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่” ที่ตกทอดมรดกมาแต่คนรุ่นก่อน

โรงแรมศิวาเทล

ภูมิคุ้มกันที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

“ จริงๆ แล้ว ถ้าเป็นโรงแรมขนาดที่ทำอยู่ คิดว่ายาก แต่สำหรับโรงแรมเรา ต้องขอบคุณอากง เป็นโชคดีของเรา ที่ตั้งแต่รุ่นอากง สร้างตึกไว้โดยไม่ทิ้งภาระหนี้ไว้ให้เลย เราผ่านวิกฤติกันมาหลายรอบตั้งแต่ปี 40 หรือช่วงวิกฤติการเมือง มาจนโรคระบาดในครั้งนี้ วิกฤติในทุกครั้ง ผ่านไปได้ด้วยการมีภูมิคุ้มกัน ”

คุณหนิง อลิสรา ศิวยาธร ผู้รับช่วงรุ่นที่ 3 แห่งโรงแรมศิวาเทลกรุงเทพ ค่อยๆ เล่าการรับมือกับโควิดให้เราฟัง

หนึ่งธุรกิจ หลากประโยชน์ใช้สอย

“ เราอยากเป็นตึกที่แสดงถึงการเป็น “พื้นที่อยู่อาศัยที่ยังยืน” โชคดีที่เมื่อหลายสิบปีก่อน อากงสร้างตึกไว้เพื่อใช้สอยแบบผสมผสาน มีทั้งส่วนที่ให้เช่าทำออฟฟิศ อพาร์ทเมนต์ โรงแรม ร้านอาหาร ทำให้ตึกเรามีการบริหารจัดการความเสี่ยงในตัวเอง โควิดปีที่แล้วที่ผ่านมาได้ ก็ด้วยรายได้จากงานประชุม จัดเลี้ยง สัมมนา กองถ่ายโฆษณา ”

“ ที่แตกต่างจากโรงแรมอื่นคือ ร้านอาหารของเรามีจุดยืนในการทำอาหารด้วยวัตถุดิบออแกนิค ปลอดสารเคมี ดีต่อสุขภาพทั้งยังช่วยสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยและชุมชน ด้วยเมนูที่มีเอกลักษณ์ สไตล์ Safety Comfort Food ช่วยทำให้อาหารของโรงแรมมีจุดแตกต่างจากโรงแรมอื่นๆ ที่ลูกค้าเข้าถึงได้และทานได้บ่อยๆ เลยทำให้ตัวร้านอาหารมีศักยภาพในการสร้างฐานรายได้ให้กับส่วนของโรงแรม ภาพรวมบริษัทในช่วงโควิดเลยยังโอเค ”


ด้วยการบริหารจัดการความเสี่ยงถูกเตรียมพร้อมมาตั้งแต่คนรุ่นก่อน “ศิวาเทล” ผ่านช่วงวิกฤติมาได้ โดยอาศัยรายได้จากพื้นที่ให้เช่าออฟฟิศ อพาร์ทเมนท์ และร้านอาหาร โดยแม้จะผ่านไปหลายเดือน พนักงานทุกคนก็ยังได้รับเงินเดือนเต็มจำนวนมาโดยตลอด จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงการระบาดระลอกที่ 3

“ เมษายนปีที่แล้วต้องปิดโรงแรมหนึ่งเดือนเต็ม ช่วงพฤษภาคมเริ่ม Lay Off พนักงาน พอเข้าสู่ช่วงปลายปี ออฟฟิศที่เช่าเหมาทั้งชั้นออกไป มันเริ่มลามมาช่องทางการเงินอื่น ตอนนั้นเราคิดเลยว่า เราแบกพนักงานแบบ Live without pay ไม่ได้อีกต่อไป พนักงานบางส่วนลาออกระหว่างทาง ไปทำกิจการตัวเองบ้าง กลับบ้านต่างจังหวัดบ้าง ตำแหน่งไหนไม่จำเป็นเราก็ไม่ได้รับใหม่สุดท้ายเราลดพนักงาน จาก 170 เหลือ 73 คน “

โรงแรมศิวาเทล

การแยกทาง ไม่ได้มีความหมายว่า “แย่” เสมอไป

การจากลา หลายคนอาจนึกถึงความเศร้า เสียใจ หม่นหมอง คราบน้ำตา แต่สำหรับนิยามการจากลาของโรงแรมที่บอกว่าตัวเองเป็น Happy Work Place น้ำตาไม่ได้แทนความเสียใจ แต่กินความหมายทดแทนความผูกพัน และเป็นจุดเริ่มต้นดั่งฝัน สำหรับพนักงานหลายๆ คน ของโรงแรมศิวาเทล การออกจากงานในช่วงโควิด กลับเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นความฝัน ที่ไม่เคยเกิดขึ้นได้ในความเป็นจริง

“ เราคาดการณ์ตั้งแต่เมษาปีที่แล้ว ว่าวิกฤติมันไม่สั้น หลายๆ ที่บอกว่าจะจบในไม่กี่เดือน แต่เราคิดว่ามันต้องอยู่นานกว่านั้น ตอนที่เราลดพนักงาน เราเก็บคีย์แมนไว้หมด แล้วปรับให้ทุกคน ทำงานแบบหนึ่งคนหลายหน้าที่มากขึ้น ส่วนคนที่ออกไป ทุกคนได้รับเงินชดเชยทุกอย่าง น้องๆ หลายๆ คนก็คิดว่า เหมือนฝันที่เป็นจริง ”

ด้วยความที่วิกฤติครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับศิวาเทล การรับมือกับเหตุการณ์อันเลวร้าย จึงถูกปลูกฝังในองค์กรมาโดยตลอด หนึ่งในนั้นที่ศิวาเทลเตรียมการมาเป็นเวลานาน คือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้กับพนักงานที่ออกจากศิวาเทล

“ น้องๆ เคยเล่าให้ฟังว่า เข้ามาทำงานกรุงเทพ อยากเก็บเงินให้ได้สักก้อน แล้วไปใช้ชีวิตต่างจังหวัด ครั้งนี้เลยเป็นเหมือนฝันที่เป็นจริง เพราะบางคนอยู่กรุงเทพมา 10 ปี ก็ยังเก็บเงินไม่ได้ แต่ด้วยเงินชดเชยที่ได้ 1-10 เดือน ตามอายุงาน บวกกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของเรา และเงินประกันสังคมอีก 10,500 บาทจำนวน 7 เดือน มันเป็นเหมือนการเติมเต็มฝันของพวกเขาให้เกิดขึ้นจริง ”

การลาจากด้วยความเกื้อกูล

ไม่ต่างจากเรื่องราวในบทเพลง หนัง นิยาย เรื่องราวของคนหนุ่มสาว กับการเข้ากรุงมาล่าฝัน ที่หวังว่าสักวัน ได้กลับบ้านพร้อมเงินเก็บสักก้อน เพื่อครอบครัวอยู่สุขสบาย

“ วิกฤติครั้งนี้ทำให้บางคนได้เงินก้อนไปเริ่มชีวิตใหม่ อย่างที่ตั้งใจ เท่าที่รู้มีคนกลับบ้านด้วยเงินชดเชย แบบกลับแล้วกลับเลย เพื่อไปเริ่มต้นธุรกิจที่บ้านเกิด บางคนยังอยู่กรุงเทพ แล้วเอาเงินตรงนี้ ไปเปิดธุรกิจเล็กๆ อย่างร้านข้าวเหนียวหมูทอด บางคนได้งานใหม่ที่เป็นสัญญาจ้างไม่ประจำ แต่ก็ยังมีเงินส่วนนี้ เป็นทุนสำรองสำหรับตัวเอง”


ทุกคนมีหัวใจ ไม่ใช่เครื่องจักรที่จะกดปุ่มสั่งให้ปรับ ให้เปลี่ยนได้รวดเร็วทันใจ เมื่อใจได้ ผลงานก็มา จนถึงวันนี้พนักงานเกือบทั้งหมด พร้อมปรับเปลี่ยนไปด้วยกัน เพราะทุกองค์ประกอบตั้งแต่เจ้าของ ผู้บริหาร พนักงาน มีความเข้าอกเข้าใจเสมือนหนึ่งเป็นครอบครัวเดียวกัน นี่คือเครื่องมือที่ศิวาเทลใช้ผ่านความเครียด ความกังวลจากสถานการณ์โควิดไปได้

โรงแรมศิวาเทล

“ สุดท้ายในช่วงโควิด ถ้าใครไม่ได้มีการจัดการการเงิน เงินสำรอง หรือมีทางเลือกแหล่งรายได้มากกว่าหนึ่ง ก็จะยาก แต่ถ้าใครมี ถึงจะไม่กำไร แต่ก็ไม่ขาดทุน ก็จะประครองธุรกิจไปได้ ”


ภูมิคุ้มกันของโรงแรมศิวาเทล คือการเตรียมรับมือกับปัญหามาโดยตลอด ไม่ใช่แค่โควิด ทุกอย่างสอดคล้องกันอย่างมีเหตุมีผล และมีการจัดการปัญหาด้วยคุณธรรม

ถึงอย่างไรก็ตามโรงแรมศิวาเทลเอง ก็ยังคงอยู่ในช่วงรับมือกับปัญหา ยังไม่รอดพ้น เช่นเดียวกับทุกๆ คน ทุกๆ ธุรกิจ โควิดรอบ 3 ก็ยังคงหนักหน่วง ยังต้องลดเงินเดือนพนักงานเป็นขั้นบันได และต้องพยายามลดรายจ่ายส่วนอื่นๆ เป็นมาตรการยาว 6 เดือนนับตั้งแต่มิถุนายนที่จะถึงนี้ สิ่งสำคัญคือ การมีสติและความรู้ตน จะเป็นตัวยึดเหนี่ยวจิตใจ ถ้ามีสองจุดนี้ อย่างไรเสีย ก็ยังมีหนทาง
:::
พอแล้วดี The Creator : อลิสรา ศิวยาธร (หนิง)
ธุรกิจ : โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ