ไร่รื่นรมย์ กับโควิด-19

การฝ่าฟันแบบ(ไร่)รื่นรมย์…ปนขมในวิกฤติโควิด

วิถีชีวิตออร์แกนิคเป็นรูปแบบที่หลายๆ คนใฝ่ฝัน ได้ใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัด ในบรรยากาศโอบล้อมไปด้วยธรรมชาติ ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ใช้ชีวิตช้าๆ กับอากาศดีๆ

แล้วถ้าต้องใช้ชีวิตแบบนี้ พร้อมกับการทำธุรกิจไปด้วยหล่ะ …

นี่คือเรื่องราวชีวิตสุขสรรค์ในต่างจังหวัดของ เปิ้ล – ศิริวิมล กิตะพาณิชย์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำของประเทศ กับการพา “ไร่รื่นรมย์” ฟาร์มเกษตรอินทรีย์บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ อ.เทิง จ.เชียงราย และอีกหลายสิบชีวิตบนบ่า ฝ่าวิกฤติที่หนักที่สุดครั้งหนึ่งของโลกใบนี้

วันที่ฟ้าถล่ม

“ในเวลาที่ข่าวมันแพร่กระจาย แล้วเราเห็นพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไป คืออยู่ดีๆ คนไม่มา จากวันนี้มียอดอยู่ วันรุ่งขึ้นได้ยอดไม่ถึงหลักพัน มันเลยทำให้รู้ว่า เราอยู่แบบนี้ต่อไปไม่ได้” เปิ้ล ค่อยๆ เล่าให้เราฟัง

“คุณค่าและจุดยืนของเรา คืออยากให้ออร์แกนิค Lifestyle หรือการบริโภคสินค้าอินทรีย์เข้าถึงคนได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และในราคาที่ย่อมเยามากขึ้น ซึ่งจะมีสองส่วนแยกออกมาคือ เรื่องของความคุ้มค่าของราคา เรื่องของสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันจริงๆ และในขณะเดียวกัน ทั้งหมดที่พูดมาเรายังยึดหลักในการใช้วัตถุดิบอินทรีย์และวัตถุดิบชุมชนเป็นหลัก”

ไร่รื่นรมย์เป็นฟาร์มออร์แกนิคที่มีทั้งในส่วนของที่พัก ร้านอาหาร และสินค้า ซึ่งทั้งหมดเป็นพื้นที่ที่คอยส่งคุณค่าจากชุมชนไปยังผู้คนในหลากหลายรูปแบบ

Organic Lifestyle อย่างที่เปิ้ลบอก ถูกถ่ายทอดไปยังทั้งนักท่องเที่ยว และคนท้องถิ่นเอง แต่ในภาวะโรคระบาด ทำให้ช่องทางที่ว่า เหลือเพียงสินค้าออนไลน์แต่อย่างเดียว

“ที่พักปิด ร้านอาหารปิด ก็จะเหลือเป็นสินค้าอย่างเดียว แต่ไร่รื่นรมย์ยังส่ง delivery ในพื้นที่ เราทำตลาดเชิงรุกไปในองค์กรต่างๆ ของรัฐ ศาล บริษัทในพื้นที่ใกล้ๆ เรามองว่าเป็นตัวเสริม เพราะอย่างไรครัวก็ต้องทำงานอยู่แล้ว เพราะต้องผลิตสินค้าให้ online”

“เราเรียกทีมมาคุยกันว่า เราจะปรับตามสถานการณ์อย่างไรได้บ้าง คุยกับทีมว่า ทั้งหมดที่เราคุยกันวันนี้ จบวันนี้ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปตามนี้ เราต้องทำตัวให้ยืดหยุ่นอยู่เสมอ อย่าไปติดว่าเราประชุมแล้วต้องเป็นแบบนี้แบบนี้ เพราะสถานการณ์มันไม่ปกติ มีโอกาสได้พูดให้เข้าใจทั้งสองฝ่ายว่า เราจะช่วยเหลือกันได้อย่างไร แล้วในขณะเดียวกัน ทางทีมเองก็ควรจะต้องดูแลเรื่องสุขภาพแล้วก็ดูแลเรื่องของการเงิน

ว่ากันเป็นสัปดาห์ๆ

เนื่องจากความเป็นธุรกิจที่พยายามสร้างคุณค่าร่วมไปกับชุมชน ปกติแล้วไร่รื่นรมย์จะมีการวางแผนระยะยาวเพื่อทำงานกับชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อการระบาดของโควิดมาถึง การวางแผนระยะยาวแทบไม่ต้องพูดถึง เอาแค่รอดไปเป็นสัปดาห์ต่อสัปดาห์ ก็ยากแล้ว

“รู้สึกท้าทายว่า ไอ้ที่เราคิดไว้ วางแผนไว้เนี่ย มันต้องคอยอัพเดทปรับตัวอยู่ตลอดเวลา จากที่จะเปลี่ยนแผนระยะสั้นให้กลายเป็นแผนระยะกลาง แล้วค่อยไปเป็นแผนระยะยาว ตอนนี้เราไม่คิดถึงแผนระยะยาวแล้ว แต่เรากำลังดูว่า แผนระยะสั้นกับกลางเนี่ย มันจะมีผลอย่างไรบ้าง เอา 3 วัน 5 วันนี้ก่อน เป็นอาทิตย์ๆ ไป”

โควิดช่วย “กลั่น” “กรอง”

“เราก็คุยกับแฟนก่อนว่า ต้องเรียกทุกแผนกประชุมว่าทุกคนมีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง เพราะมันกระทบหมด ทั้งส่วนแพค ทั้งแปรรูป ทั้งหน้าร้าน ทั้งออนไลน์ เรามีการโยกคนเพื่อสนับสนุนตลาดออนไลน์มากยิ่งขึ้น ซึ่งในช่วงนี้มันเลยเกิดการกรองในสิ่งที่ไม่จำเป็น คือไม่ได้กรองแค่การตัดสินใจ แต่มันกรองเรื่องคนด้วย เราจะได้รู้ว่าคนที่เขาพร้อมไปกับเราจะต้องมีภูมิคุ้มกันอะไรบ้าง จะต้องมีวิธีคิดแบบไหนบ้าง เพราะอย่างที่เห็นมันคือทำงานหนักขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะได้เงินเยอะขึ้น มันเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันมากกว่า ก็มีคนที่เข้าใจ และก็มีคนที่ไม่เข้าใจ เราก็รู้สึกว่า เป็นอะไรที่มันกรองให้เราได้เห็นจริงว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น บริษัทเราอยู่แล้วเป็นอย่างไร”

พอทุกคนอยู่บ้านทุกอย่างถูกสื่อลงไปใน Social

พอเกิดปัญหา แน่นอนว่าการระบายออกเป็นส่วนหนึ่งในการผ่อนคลายความล้า การสะสมของความเครียด สำหรับไร่รื่นรมย์ การบรรเทาความรู้สึกร่วมกันของทีม เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจผ่านจุดเลวร้ายมาได้ด้วยดี

“โควิดมันทำให้เราเรียนรู้ที่จะแกร่งขึ้น ขณะเดียวกันทำให้เราเข้าใจว่า คนเรามันก็ร้อยพ่อพันแม่ เราไม่สามารถทำให้ทุกคนพึงพอใจได้ ก็ได้เสียงกำลังใจที่เขาเห็นด้วยกับเรา ก็มีบ้างที่ทีมงานโพสต์ว่าเหนื่อย แต่สุดท้ายแล้วเราก็เห็นว่าส่วนใหญ่แล้วคนที่มีประเด็นจะชอบ พูดชอบบ่นเฉยๆ แต่คนที่ไม่มีประเด็นจะไม่ค่อยแสดงความเห็น พอมีเหตุการณ์แบบนี้เราก็ได้เห็นว่า คนที่มีอุดมคติร่วมไปกับเราก็เริ่มแชร์ในกลุ่มพนักงานด้วยกัน ให้กำลังใจกัน แล้วก็พยายามทำให้มันมีกำลังใจดีๆ ท่ามกลางปัญหา เราอยากจะให้คนที่มีพลังดีๆ ได้กระจายออกไป แล้วกลืนพลังงานลบ แสดงให้เห็นว่าการทำดีมันยากและต้องอดทน เราอยากทำให้คนที่เดินไปด้วยเขาแกร่งขึ้น เขามีภูมิคุ้มกันมากขึ้นแม้ว่าเสียงรอบข้างจะเป็นอย่างไรแต่เป็นตัวคุณรู้ดีที่สุดว่าตัวคุณเป็นอย่างไร องค์กรเป็นอย่างไร”

ตัดชิ้นเนื้อแต่พอตัว (และพอหายใจ)

แนวทางการแก้ปัญหาของไร่รื่นรมย์ ทางหนึ่งคือต้องลดต้นทุนที่ยังพอลดได้บางส่วน แต่สิ่งที่สำคัญคือ การขับเคลื่อนชุมชน ที่ยังต้องดำเนินต่อไป ไร่รื่นรมย์ใช้วิเคราะห์กลุ่มลูกค้าให้มากขึ้น ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และสร้างคุณค่าของสินค้าชุมชนผ่านการสื่อสารที่เข้มข้น และเข้าถึงยิ่งขึ้น

“ เราก็มาคุยกันว่า อะไรที่ไม่จำเป็นตัดออก พยายามตัดชิ้นเนื้ออะไรก็ตามที่ทำให้เราคล่องตัวที่สุด มันเบาที่สุด โดยที่ไม่กระทบกับทีมงานหลัก อะไรที่เราจะตัดได้แล้วมีชีวิตต่อไปได้ เช่น เรามีการจ้างงานรายวันอยู่ เราก็ตัดออก ในขณะเดียวกัน ก็ต้องหาสภาพคล่องไปด้วย เตรียมดูพวกสินเชื่อในเรื่องของธนาคารไว้เป็นแผนสำรอง”

“ ปัจจัยหลักๆ ที่เรามองว่าทุกธุรกิจควรต้องมีคือเรื่องของการวางแผนการเงิน เรื่องของแผนสำรองที่จะมีเงินสำรองในทุกการหมุน ถ้าเกิดสถานการณ์อะไรบางอย่างเกิดขึ้นอยู่ได้กี่เดือน อยู่ได้กี่ปี แล้วก็เรื่องของแผนธุรกิจที่จะต้องปรับและไม่หลุดจุดยืน ปรับแล้วยังคงคุณค่ายังรักษาจุดยืนไว้ได้ ทางครอบครัวก็พยายามคิดหาทางออกในระยะสั้น ระยะยาว ว่าจะมีเงินทุนอะไรยังไง ก็เป็นการช่วยเหลือกันมากกว่า”

“ส่วนเรื่องชุมชนก็ยังเหมือนเดิม เราพยายามซื้อเหมือนเดิม ในปริมาณเท่าเดิม เพราะถ้ายิ่งทำให้เห็นว่าพ่อค้าคนกลางไม่มารับเขา เขาก็ขายได้ยอดน้อยลง ทำอย่างไรที่เราจะสื่อสารเรื่องราวออกมาในมุมที่ผู้บริโภคเข้าใจมากยิ่งขึ้น ข้อได้เปรียบของเราคือ ตราบใดที่คนยังกินข้าว ยังกินอาหาร เราก็มีสิทธิเข้าไปอยู่ในมื้ออาหาร จะทำอย่างไรที่วัตถุดิบชุมชนจะไปอยู่ในมือของเขา ก็พยายามเน้นเรื่องการสื่อสารมากยิ่งขึ้น ทำให้คนเห็นวิธีใช้มากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน เราพยายามตัดบางอย่าง เช่น บรรจุภัณฑ์บางอย่างที่ทำให้มีราคาสูง เราก็ปรับลงหมด เพื่อที่จะคุ้มค่าทั้งเกษตรกรและลูกค้า อย่างเช่นกล่องสเปย์ฉีดคอ เราเห็นว่ากล่องข้างนอกคนแกะแล้วก็ทิ้ง จริงๆ เขาใช้แค่ตัวใน เราก็ตัดที่มันไม่จำเป็นออกเพื่อที่จะปรับราคาให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายขึ้น”

เงินโฆษณากับลูกค้าที่ไม่ใช่

อีกหนึ่งรายจ่ายที่ทุกวันนี้แทบจะทุกสินค้าเลือกใช้ ก็คือการโฆษณาออนไลน์ เพราะไม่ว่าด้วยเหตุผลใดที่คิดออก แทบทุกคนตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงวัย ต่างอยู่บนโลกออนไลน์ทั้งสิ้น วิกฤติโควิดครั้งนี้เองที่ทำให้ไร่รื่นรมย์กลับมาฉุกคิดได้ว่า เงินทุกบาททุกสตางค์ที่จ่ายไป อาจไม่ได้ลูกค้าที่ตรงจริตกลับมาจริงๆ

“โควิดรอบล่าสุดน่าจะหนักสุด มันเหมือนคนเขาระวังเรื่องการใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น คนมีการคิดวิเคราะห์เยอะก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ ดังนั้นสิ่งที่เขาจะซื้อมันต้องดูในเรื่องของความคุ้มค่า แล้วเราเองก็ไม่อยากลดราคา ในเวลานี้เปิ้ลเองใช้เวลาที่มี กลับมาย้อนวิเคราะห์ลูกค้าที่มีอยู่ในมือ เมื่อก่อนเราหาแต่ลูกค้าใหม่ หา หา หา แต่ตอนนี้เราเอาเวลามานั่งดูว่า เราจะดูแลลูกค้าเก่าหรือลูกค้าที่มีอยู่ของเราให้ดียิ่งขึ้นอย่างไรบ้าง เพื่อลดค่าโฆษณา เพราะทุกคนวิ่งมาออนไลน์หมดเลย ราคาต่อคนมีแต่จะสูงขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายในการโฆษณาต้องใช้สูงมากขึ้น”

“เรากลับมาดูว่าต้นทุนเรามีอะไร เราเอาทีมงานมาดูแลลูกค้าและหาข้อมูลเชิงลึก เมื่อได้ข้อมูลมาจากลูกค้ามากขึ้นว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่เขาต้องการคืออะไร ก็พยายามแก้โจทย์ของเขาตรงนั้น มากกว่าที่จะวิ่งหาลูกค้าใหม่เรื่อยๆ ลดราคาอยู่เรื่อยๆ แต่ทำให้เขาเห็นว่า มันคุ้มค่าราคาที่ซื้อ เค้าก็รู้สึกภูมิใจว่า ราคานี้มันเข้าถึงได้ มันคุ้มค่า โดยที่ไม่ต้องลดราคา”

ข้าถึงเข้าใจและแก้ไขให้ตรงจุด

สิ่งที่ไร่รื่นรมย์เลือกลงทุนกับเวลาอีกหนึ่งอย่างคือ ให้ทีมงานเก็บข้อมูลจากลูกค้าที่มี เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตรงและช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้มากที่สุด

“เรามีให้ทีมโทรไปหาลูกค้าเก่าเก็บข้อมูล 20 คน เช่น ถามเขาว่า ถ้าเราส่งของเองในกรุงเทพ วันอังคาร พุธ พฤหัส ส่งฟรีในขั้นต่ำ 800 – 1000 บาท ลูกค้าจะคิดว่ายังไง ก็มีเสียงมาบอกว่า บรรจุภัณฑ์ของเรา มันมีแต่ครึ่งโล กับหนึ่งกิโล ซึ่งลูกค้าเขาอยู่คนเดียว เขากินไม่หมดแน่นอน เราได้คำแนะนำจากลูกค้าทีใช้จริง มีเสียงจากลูกค้ามา แต่หลายครั้งเราไม่รู้ ก็เพราะเรา ขาย ขาย ขาย อย่างเดียว เราได้ใกล้ชิดลูกค้ามากยิ่งขึ้น เข้าใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งเราจะบอกทีมงานเสมอว่า ทุกคนที่พูด ที่ว่าเรา คือดี เพราะเขาจะไม่เสียเวลาพูดกับเรา ถ้าเขาไม่อยากใช้ต่อ ถ้าเจอคนที่เขาไม่ซื้อแล้วปิดกั้นเราไปเลย

อย่างนี้น่ากลัวกว่า เพราะเราเสียค่าโฆษณาแต่กลับกลายเป็นว่า เขาไม่ใช่ลูกค้าเรา เราจะดูแลลูกค้าเก่าได้อย่างไร ให้เขาอยู่กับเราต่อไป เราอยากให้รู้จักว่า ไร่รื่นรมย์เป็นแบรนด์ที่สามารถพูดคุยได้ ฟีดแบ็คได้ แนะนำได้”

จงเป็นกิ้งก่าที่ (พยายาม) ไม่เครียดและมองหาความสุข

สำหรับไร่รื่นรมย์ การอยู่รอดของธุรกิจไม่ได้หมายถึงเพียงแค่คนๆ เดียว หรือครอบครัวเดียว แต่มันยังหมายถึงชุมชนที่อยู่เบื้องหลัง เพื่อนๆ เกษตรกร เพื่อนๆ ผู้สร้างวัตถุดิบอินทรีย์ ที่ก่อร่างสร้างตัวกันมาตลอดเวลาหลายปี ด้วยสิ่งที่เป็นปัญหาถาโถม แบบที่เราๆ ท่านๆ เจอกันอยู่ทุกวันพร้อมกันกับไม่รู้กี่แสนกี่ล้านคน เราก็เลยถามเปิ้ลไปตรงๆ ว่า คิดว่าในวิกฤติแบบนี้ ไร่รื่นรมย์จะอยู่รอดได้อย่างไร…

 “ เปิ้ลคิดว่าเราต้องทำตัวเป็นกิ้งก่าปรับตัวไปตามสถานการณ์ เราคงรับปากไม่ได้ว่าจะรอดถึงที่สุดหรือเปล่า แต่เราจะพยายามถึงที่สุดแน่นอน ด้วยวิธีที่ว่า วันนี้ล้มเหลว พรุ่งนี้เอาใหม่ จนกว่ามันจะไปไม่ได้แล้วค่อยว่ากัน”

“ถ้าวันนี้ยังตื่นมา ก็ยังมีทางออก แต่อย่างน้อยเราจะอยู่กับสถานการณ์แบบนี้อย่างไรโดยที่ไม่เครียด เพราะถ้าเครียดนอนไม่หลับ ก็มีผลต่อสุขภาพ เปิ้ลเลยมองว่า ถ้าวันนี้อาจจะยังขายไม่ดี ขายไม่ได้ ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะเอาอะไรกิน จะเอาเงินมาจากไหน หลับไปพรุ่งนี้ เดี๋ยวมันก็มีไอเดียเข้ามาเอง แต่มันจะคิดออกไปทีละขั้น ไม่ใช่แบบสมัยก่อนที่มองระยะยาวได้”

พอเราฟังเรื่องราวของไร่รื่นรมย์มาถึงตรงนี้ ได้เห็นทั้งความทุกข์ ความพยายาม การดิ้นรน การแบกรับ การปรับตัว เลยเกิดความสงสัยว่า ทุกวันนี้ในช่วงที่มีโรคระบาดไปทั่วโลก ความสุขของเปิ้ลในการทำไร่รื่นรมย์ มันยังคงรื่นรมย์แบบวันแรกๆ ที่เปิ้ลตัดสินใจมาลงหลักปักฐานที่เชียงรายหรือเปล่า…

“ ความสุขของเราอาจจะไม่เหมือนเดิม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความสุข เพราะเปิ้ลมองว่ามันเป็นฤดูกาลของความท้าทายในชีวิตที่ทุกคนเจอหมด ทั่วโลกเจอ แล้วเราจะมีความสุขในแต่ละวันได้อย่างไร ทั้งๆ ที่รู้ว่าสถานการณ์มันแย่ แต่เราจะทำอย่างไรให้ตัวเราเอง ครอบครัวเรา ลูกค้าเรา มีความสุข มีกำลังใจที่จะก้าวเดินต่อไป มันก็ทำให้เห็นว่า ใครที่อยู่เคียงข้างเราจริงๆ ในยามวิกฤติ ทั้งทีมงาน ผู้ค้าต่างๆ พยายามคิดหาทางออกที่จะรอดไปด้วยกัน”


:::


พอแล้วดี The Creator : เปิล – ศิริวิมล กิตะพาณิชย์
ธุรกิจ : ไร่รื่นรมย์