31 THANWA กับโควิด-19

โควิดกับการคงอยู่ของ “๓๑ ธันวา” เพื่อรักษาช่างฝีมือไทย

“จำได้ว่าอยู่ดีๆ ห้างสั่งปิด คือประกาศวันนั้น ก็เกิดความโกลาหลวุ่นวายมาก เราต้องจัดการเรื่องปิดหน้าร้าน น้องๆ จะไปอยู่ไหนยังไง เราจะเอาของออกมาจากห้างอย่างไร เป็นวันเดียวกันกับวันที่อาป๊าเข้า ICU เพราะติดเชื้อในกระแสเลือด ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วมากในวันเดียวกัน”

 / เก๋ – บุณยนุช วิทยสัมฤทธิ์ เล่าย้อนภาพเหตุการณ์โควิดระลอกแรก ซึ่งเป็นเสมือนจุดเปลี่ยนสำคัญที่ตอกย้ำความสำคัญของการมีอยู่ของแบรนด์ ๓๑ ธันวา ได้แจ่มเจนมากยิ่งขึ้น

>>> ตระกูลช่างทำรองเท้ากับแฟชั่นที่ พอดี

         “เราเกิดในครอบครัวช่างทำรองเท้าที่ทำมา 70 กว่าปี ตั้งแต่อากงที่เป็นรุ่นที่ 1 อาป๊ารุ่น 2 เราเองเป็นรุ่นที่ 3 เกิดมาในครอบครัวที่ลืมตาตื่นมา เขาก็ทำรองเท้าหนังกันทุกอณูในบ้าน เห็นอย่างนี้ตั้งแต่เด็กยันโต แต่เราไม่เคยลงไปคลุกคลี ใช้ชีวิตเหมือนเด็กคนหนึ่งที่สุขสบาย คือไม่ได้รวยล้นฟ้าแต่ก็ไม่เคยอดมื้อกินมื้อ จนกระทั่งเรียนจบมหาลัยได้ มันเหมือนกับว่าทุกคนในโรงงานทำให้เราได้โตมามีความเป็นอยู่ที่ดีแบบนี้”

 

        “พอถึงวันที่เราจะลุกขึ้นมาทำแบรนด์ เราก็อยากให้ความรักนี้มันทำให้โรงงานงอกเงยและไปต่อได้อย่างที่รุ่นก่อนทำมา เราก็เลยใช้ชื่อว่า ๓๑ ธันวา ซึ่งเป็นวันเกิดเรา เราเกิดวันที่ 31 ธันวาคม เกิดมาในครอบครัวช่างทำรองเท้า เราก็อยากจะทำให้ความรักนี้มันงอกงามไปอีกครั้งนึง ให้ทุกให้ได้เห็นว่า จากแต่ก่อนบ้านทำรองเท้า พอถึงยุคเรา เราคิดว่าโลกยุคสมัยมันเปลี่ยนไป เราก็ปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์คนปัจจุบันมากขึ้น ว่าเราไม่ได้ทำแค่รองเท้า แต่เราเป็นเครื่องหนัง เครื่องหนังที่ถูกสร้างสรรค์โดยชีวิตอาจารย์ช่างฝีมือ ที่มีประสบการณ์มายาวนาน เรารู้สึกเราทำอย่างอื่นได้ เป็นรองเท้า เป็นกระเป๋า”

๓๑ ธันวา เป็นแบรนด์กระเป๋าหนัง ที่บอกกับทุกคนว่า แม้แต่เรื่องแฟชั่น ที่ทุกคนมองว่าเป็นเรื่องฟุ่มเฟือย ก็สามารถทำให้เกิดความพอเพียงได้ ด้วยประโยคที่ว่า “ใบเดียวก็…พอ”

“ถ้าเป็นเกษตร พอเพียง พอแล้วดี คนเข้าใจ แต่พอเป็นแฟชั่นปุ๊บ เออมัน พอ… ยังไง คือแฟชั่นมันช่างจะตรงข้ามกับคำว่าพอ แต่เราก็เชื่อว่าเราทำได้ ให้คนเห็นว่ามันพออย่างไร”

>>> วันวิปโยค

๓๑ ธันวา ดำเนินธรุกิจโดยมีโรงงานเป็นฐานการผลิตหลัก มีอาจารย์ช่างเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงาน มีหน้าร้านในห้างเป็นส่วนเชื่อมต่อระหว่างผู้คนกับแบรนด์  สำหรับเครื่องหนังที่ถือประดับติดตัวอย่างกระเป๋า ลูกค้าย่อมอยากสัมผัส อยากเห็นรูปร่างหน้าตาจริง ก่อนที่จะนำมาเป็นของใช้คู่กาย แต่เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มขึ้น ทุกอย่างก็พังทลายลง

 

            “จำได้ว่าอยู่ดีๆ ห้างสั่งปิด ซึ่งมันเหมือนเป็นหน้าร้านหลักของ ๓๑ ธันวา คือประกาศวันนั้น ก็เกิดความโกลาหลวุ่นวายมาก เราต้องจัดการเรื่องปิดหน้าร้าน น้องๆ จะไปอยู่ไหนยังไง เราจะเอาของออกมาจากห้างอย่างไร เป็นวันเดียวกันกับวันที่อาป๊าเข้า ICU ติดเชื้อในกระแสเลือด ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วมากในวันเดียวกัน”

“อยู่ดีๆ เราต้องดูแลป๊าและดูแลคนในครอบครัว ซึ่งก็คือทีมงานทั้งหมด (ทั้ง ๓๑ ธันวา และรองเท้าหนังแบรนด์ Youngfolk ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัว) วันสองวันแรกก็จะไม่มีสติเพราะปัญหามันเข้ามาพร้อมๆ กัน แต่พอเราตั้งสติได้ รอบแรกเรารู้สึกว่าช่วงโควิดมันทำให้การเข้าถึงคอนเทนท์ต่างๆ มาอยู่ในเรื่องของโซเชียลมีเดียอย่างเดียว ซึ่งแต่ก่อนคนยังมีความเป็นออฟไลน์ ออนไลน์ผสมกัน แต่ตอนนี้มันไปอยู่ที่ออนไลน์ล้วนๆ สิ่งที่เราทำได้คือต้องย้ายจากออฟไลน์มาออนไลน์ ทำยังไง อย่างไรเราถึงยังอยู่รอดได้”

>>> เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส

            ด้วยจุดยืนที่ชัดเจนของ ๓๑ ธันวา ต่อการเป็นแบนด์แฟชั่นที่ตั้งใจเล่าเรื่องที่มา สื่อสารคุณค่าของ “คน” เชื่อมโยงกับสินค้า มากกว่าแค่การทำคอลเลคชั่นตามฤดูกาลอย่างใครๆ  โลกออนไลน์กลายมาเป็นโอกาสทองให้ เก๋ ได้สื่อสารความตั้งใจของ ๓๑ ธันวา มากขึ้นยิ่งกว่าครั้งใดๆ

            “ก่อนหน้านั้นมันเป็น fast fashion ทุกอย่างเร็วหมด คนไม่มีเวลามานั่งอ่านคอนเทนท์อะไรมากมาย แต่พอโควิดมารอบแรก ทุกคนต้อง work from home อยู่บ้าน เราเลยรู้สึกว่ามันเป็นโอกาสทองของเรา เพราะแบรนด์เรามีจุดเด่นในเรื่อง การเล่าเรื่องที่ค่อนข้างแข็งแรง ดังนั้นเรารู้สึกว่าต้องใช้ประโยชน์จากตรงนี้ ในการที่จะลุกขึ้นมาทำให้แบรนด์เราไปต่อได้ด้วย storytelling”

>>> ๓๑ เปอร์เซ็นต์ ที่สร้างคุณค่ามหาศาล

            “ในแง่ของตัวธุรกิจตอนนั้นเราเลยลุกขึ้นมาทำแคมเปญ 31% Donation คือเราคิดว่าปกติเราอยู่ห้างเราก็โดนค่าคอมมิชชั่น (ส่วนต่างที่ต้องจ่ายให้กับห้าง) ไปเกือบ 40 – 50% อยู่แล้ว แต่ตอนนี้เรามาขายออนไลน์เอง เราได้เงินเลยเมื่อลูกค้าโอนเงินมา แต่เรารู้สึกว่าไหนๆ เราจะลุกขึ้นมาทำอะไรเรามั่นใจกับคุณค่าของแบรนด์เรามีอยู่ 31% จากรายได้ เราจะแบ่งนำไปช่วยวิกฤติโควิดครั้งนี้ เพราะเรามีความเชื่อว่า เราไม่สามารถทำอะไรสำเร็จได้ ไม่สามารถฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้ด้วยตัวคนเดียวอยู่แล้ว ถ้าอาจารย์ช่างเราช่วยกัน ลูกค้าเราช่วยกัน แล้วตัวแบรนด์เราลุกขึ้นมาช่วยอะไรเพื่อสังคมมันก็คงจะทำให้ไปด้วยกันได้”

 

           “แล้วระหว่างที่ทำแคมเปญนี้เราก็จะมีคอนเทนท์ของอาจารย์ช่างฝีมือแต่ละท่าน ให้เขาพูดเรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจในชีวิตเขา ว่าเขาผ่านความยากลำบากอะไรมาบ้างกว่าจะมามีวันนี้ เพื่อที่จะเป็นพลังดีๆ ที่อย่างน้อยลูกค้าได้อ่านเรื่องราวนี้ มันเป็นกำลังใจเล็กๆ น้อยๆ ในการที่ให้คนเห็นว่าชีวิตคนทุกคนก็มีความยากลำบาก มีความต้องต่อสู้กับอะไรต่างๆ นานา สุดท้ายมันก็จะสวยงามด้วยการที่คุณมีพลังดีๆ พลังบวกในชีวิตที่จะลุกขึ้นมาสู้กับมันและผ่านมันไปให้ได้”

           “ตอนนั้นในหน้า feed ของแบรนด์ ก็จะมีแต่รูปอาจารย์กับกระเป๋า และคอนเทนท์ที่เป็นชีวิต เรื่องราวของอาจารย์ทั้งหมด เพราะว่าด้วยตัวกระเป๋าทุกใบจะถูกทำโดยอาจารย์ 1 ท่านเท่านั้น ดังนั้นลูกค้าที่ได้กระเป๋าใบนี้ไปเขาจะมีการ์ดที่เป็น QR Code ของอาจารย์ท่านนั้น พอสแกน QR Code ก็จะเห็นวิดีโอชีวิตของคนทำกระเป๋าใบนี้ของคุณ คุณจะได้รู้จักชื่อของเขา หน้าตาของเขา มันก็เลยกลายเป็นว่าเหมือนกับเราส่งต่อพลังดีๆ ให้กับลูกค้าเราโดยการที่ว่า อาจารย์ตั้งใจทำกระเป๋าเพื่อให้ลูกค้าได้รับพลังดีๆ ไป ส่วนลูกค้าเขาก็บอกกับเราว่า ขอบคุณมากๆ ที่ทำให้เขารู้สึกสวยแม้กระทั่งอยู่บ้าน เขารู้สึกดีที่ได้รับพลังดีๆ จากอาจารย์ อันที่สองคือเขาได้แบ่ง 31% นี้ให้กับอีกหลายๆ ชีวิตที่ต้องต่อสู้กับโควิด แล้วอาจารย์ช่างฝีมือก็รู้สึกได้ว่ากระเป๋าที่เขาทำไม่ได้ส่งต่อให้เพียงผู้หญิงคนหนึ่ง แต่สามารถไปช่วยชีวิตอีกหลายๆ คนในช่วงโควิด กลายเป็นว่ามันเกิดผลดีมากๆ”

>>> โควิดประชิดตัว

           จนมาถึงจุดนี้ ราวกับว่าโควิดจะเป็นตัวเร่งที่ทำให้ ๓๑ ธันวา ได้สื่อสารคุณค่าของแบรนด์อย่างชัดเจนกับลูกค้ามากยิ่งขึ้น ลูกค้าเข้าใจ รัก บอกต่อ อาจารย์ช่างมีความสุขกับงานที่ทำ ตัวเจ้าของแบรนด์เองก็มีความสุขกับสิ่งที่ได้สร้างสรรค์ให้กับโลกใบนี้

แต่เรื่องราวไม่ได้เรียบง่ายขนาดนั้น เมื่อโควิดยกระดับความรุนแรง และเริ่มบุกรุกเข้าสู่โรงงาน จู่โจมครอบครัว จู่โจมอาจารย์ช่าง เป็นอีกวิกฤติร้ายแรงของ ๓๑ ธันวา

           “สำหรับรอบล่าสุดนี้ โควิดรอบแรกกลายเป็นเรื่องเด็กๆ ไปเลย ก่อนหน้านี้เราคิดว่าความสำคัญลำดับแรก คือการสู้เพื่อให้รอดในแง่ของธุรกิจ แต่ในรอบนี้ เราสู้เพื่อให้ทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและปลอดภัย ซึ่งความสำคัญในเรื่องการรักษาธุรกิจ กลายเป็นเรื่องรอง มันไม่ใช่แค่การปรับตัวทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดกลายเป็นเรื่องสุขภาพ”

 

          “เราประสบปัญหาคนในโรงงานติดโควิดกันยกแผนก แล้วแผนกที่ติดเป็นแผนกตัดเย็บ ที่เป็นเหมือนสายพานอยู่ตรงกลาง ทำให้ไม่สามารถทำงานต่อได้ มันเลยโหดสำหรับเรา เพราะเหมือนเราโดนตัดแขนตัดขาออก แล้วคนที่ติดโควิดก็เป็นอาจารย์ช่างหมดเลยเป็นกำลังหลักของเราและอายุมาก เลยทำให้สิ่งสำคัญที่สุด คือเราต้องมาดูแลในเรื่องของสภาพชีวิต สภาพจิตใจทั้งคนที่ติดและไม่ติดโควิด มันเลยยากกว่าครั้งแรกๆ มาก กับการที่ว่า นอกจากประคับประครองเศรษฐกิจให้มันรอดพ้นไปได้ มันต้องประคับประครองชีวิตทุกคนในโรงงานไปด้วย”

           “พอมีคนติดแล้วเราต้องปรับทุกอย่าง กระทั่งการบริหารจัดการ เราจะรันธุรกิจต่อไปอย่างไรในเมื่อโรงงานเราต้องปิดตัว รายรับเราก็แย่อยู่แล้ว แล้วเราก็มีรายจ่ายเยอะมากในการดูแลคนที่ติดและไม่ติดโควิด อันนี้คือปัญหา และความต่างจากรอบก่อนๆ”

         มีคำกล่าวที่ว่า เมื่อเจอกับอุปสรรค์ใด จงเรียนรู้ และเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นให้เป็นประสบการณ์ ประโยคนี้เองเป็นสิ่งที่ ๓๑ ธันวา ได้เรียนรู้จากปัญหา จนสามารถผ่านพ้นวิกฤติโควิดมาได้อย่างปลอดภัย

>>> สติคือที่ตั้งของการตั้งต้นแก้ปัญหา

          “สิ่งที่ ๓๑ ธันวา ได้เรียนรู้ตั้งแต่ช่วงแรกของโควิด คือเราได้เรียนรู้การดำเนินทุกอย่างอย่างมีสติ เราเจอตั้งแต่โจทย์แรกที่ป๊าอยู่บนความเป็นความตาย ในช่วงขณะเดียวกันที่ธุรกิจเราที่อยู่บนความเป็นความตายเหมือนกัน ในวันเดียวกัน ปัญหาเข้ามาพร้อมๆ กัน ถ้าเราเป็นคนไม่มีสติ ก็อาจจะตัดสินใจอีกแบบหนึ่ง ก็อาจจะให้น้องพนักงานทั้งหมดออกหมด เอาพ่อไว้ก่อน พอเรามีสติ ก็กลับมาคิดได้ว่า แบรนด์เราควรจะทำอะไร และควรจะเดินต่อไปอย่างไร ควรจะปรับแผนอย่างไรให้เราอยู่รอดเพื่อให้ทุกคน ทุกชีวิตในครอบครัวของโรงงานเรารอด มันเลยไปด้วยสติในทุกๆ รอบที่เราเจอ อย่างรอบล่าสุดที่เราต้องปิดโรงงาน ถ้าเราไม่มีสติก็คงไม่สามารถประคับประครองทุกคนให้รอดได้”

>>> ปรับตัวแต่ไม่เปลี่ยนจริตตน

          “อันที่สองคือ เราไม่ยึดติด คือหลายๆ คนจะคิดว่าเวลาเราเคยทำอะไร ทำแล้วมันดี เราก็ควรทำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ความไม่ยึดติดในที่นี้ก็คือ เราปรับตัว แต่ก่อนเราอาจมีห้างเป็นหลัก แต่ตอนนี้เราจะทำอย่างไรให้อยู่รอดในโลกออนไลน์ ในขณะที่ของเราเป็นรองเท้ากระเป๋า คนก็ต้องอยากลอง เราเลยต้องคิดปรับแผนธุรกิจอย่างไรให้มันอยู่ในโลกออนไลน์ได้ ให้คนมีประสบการณ์ร่วมกับเรา”

 

         “ไม่ยึดติดกับคำที่ว่า เป็นแบรนด์สวยๆ มันต้อง นิ่งๆ เก๋ๆ คูลๆ คนจะคิดว่าการไลฟ์ มีไว้สำหรับแบรนด์ที่ขายของแมสๆ ตอนแรกเราก็หวั่นๆ กับการไลฟ์ว่าลูกค้าจะรู้สึกยังไง กลายเป็นว่า พอเราไลฟ์ ก็ไลฟ์ในแบบจริตของเรา ลูกค้าก็น่ารักมากในการเข้ามาให้กำลังใจและบอกว่า ไลฟ์อีกนะคะสนุกมากเลย ก็กลายเป็นว่าพอจบไลฟ์ เพื่อนๆ ที่เป็นดีไซน์เนอร์ทุกคนพิมพ์มาหาว่าดีมาก จริงๆ หลายๆ คนก็อยากจะไลฟ์แต่ไม่กล้า เห็นเราทำแล้วก็รู้สึกกล้าที่จะทำบ้าง สิ่งที่เราทำเพราะว่าเราไม่ยึดติดว่าช่องทางของเราต้องเหมือนเดิม แต่เราต้องทำให้มัน เข้าใจ เข้าถึง ว่าในตอนนี้คนไม่ได้มีโอกาสไปลองใส่รองเท้า ไปลองถือกระเป๋า มันต้องได้เห็นได้คุยกับเราจริงๆ ว่ามันเป็นอย่างไร มันคือความใส่ใจที่เราอยากให้ลูกค้าได้เห็นของที่ดี ของที่มันเหมือนจริงมากที่สุดให้เขามั่นใจในตัวผลิตภัณฑ์”

>>> ผ่านเรื่องราวแย่ๆ ด้วยความรักที่มีอยู่รอบตัว

           “อย่างที่สามคือเรื่องความรัก พอยิ่งโควิดมันยิ่งทำให้เรารู้ว่าเรารักคนในครอบครัว คนในโรงงาน เราไม่ทิ้งใครสักคน การที่เราให้เขาไปแบบไม่หวังผลตอบแทน ตอนนี้เราเหมือนหมอในโรงงานที่ดูแลทุกชีวิต ทุกคน ทั้งคนที่กักตัว ทั้งคนที่ติดโควิด เราดูแลตั้งแต่ค่าใช้จ่าย ค่ารักษา ค่าอาหาร ค่าที่พักที่อยู่ เราทำเต็มที่เพราะเรารู้ว่าชีวิตคนมันสำคัญ เราต้องเซฟคนของเรา กลายเป็นว่าสิ่งที่เราได้รับกลับมาคือ เขาขอบคุณเรา เขารู้สึกจากใจในสิ่งที่เราทำให้ มันเป็นความรักที่เราไม่ทิ้งใครอยู่เบื้องหลัง เรารู้สึกขอบคุณที่เขาทำงานมาให้เรามาทั้งชีวิติ ในการที่เกิดวิกฤติเกิดโรคระบาดดังนั้นคือเราว่า ความรักเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ ตัวเขาเอง อาจารย์ช่างทุกคน เขารู้สึกว่าเขามีคุณค่าสำหรับเรา ทำให้เขาและเรามันผ่านไปด้วยความรักและกำลังใจที่ดี เราดูแลกันเหมือนคนในครอบครัวจริงๆ”

 

>>> คงอยู่เพื่อรักษาไว้ซึ่งคุณค่างานฝีมือไทย

ก่อนหน้านี้เราเคยตั้งคำถามกับ ๓๑ ธันวา เพราะความสงสัยส่วนตัวที่ว่า แบรนด์เครื่องหนังแฟชั่น จะช่วยสร้างคุณค่า สร้างความภาคภูมิใจอะไรได้มากมาย การคงอยู่ของ ๓๑ ธันวา (รวมถึงเรื่องราวการผ่านพ้นโควิด19) สำคัญอย่างไร จนกระทั่งเราได้ฟังเรื่องราวนี้จากเก๋

 

          “เคยมีอาจารย์บอกกับเราว่า อาจารย์ทำรองเท้ามาเกือบทั้งชีวิต บางทีก็เผลอหลับ แต่ไม่เป็นไร เพราะว่าทำเรื่องเดิมๆ มันทำจนเหมือนหลับตาทำได้ แต่ตั้งแต่อาจารย์ทำกระเป๋าให้เก๋ อาจารย์ไม่เคยหลับเลยนะ เพราะมันต้องมีสติตลอดเวลา”

“จำได้ว่าพออาจารย์ทำกระเป๋าเสร็จ สิ่งที่เราเห็นความต่างจากที่เขาทำรองเท้า เขาจะชูกระเป๋าถ่ายรูปแล้วพูด สวยไหม สวยไหม เอาอวดกันเอง คือเราเห็นแล้วน้ำตาคลอทุกรอบ เขาภูมิใจที่ ฉันเป็นช่างทำรองเท้ามาทั้งชีวิต วันหนึ่งได้ลุกขึ้นมาทำอะไรอย่างอื่น แล้วออกมาสวย มีคนซื้อ มีคนชอบ มีคนสนับสนุน มันทำให้ชีวิตเขากลับมามีคุณค่าอีกครั้ง”

“จากช่างทำรองเท้าไร้ชีวิตที่ทำจนเป็นหุ่นยนต์ไปแล้ว ทุกวันนี้ที่โรงงานสนุก เพราะกระเป๋าแต่ละใบไม่เหมือนกัน พอเห็นกระเป๋าที่ออกมา ลูกค้าคนนี้เลือกสีจับคู่มาน่ารักช่างคิดเนาะ ถ่ายรูปอวดกัน มันสนุก มันทำให้บรรยากาศเปลี่ยนไป มันยิ่งทำให้คุณค่าของคนทำ อยากที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป และรักษาอาชีพนี้ต่อไปอีก แล้วก็อยากจะบอกต่อให้กับเด็กรุ่นใหม่ว่าอาชีพนี้มันสวยงามแค่ไหน ถึงแม้ว่ามันจะเหนื่อยแต่มันเป็นความสวยงามที่คุ้มค่า”

“สิ่งหนึ่งที่ทำให้โรงเครื่องหนังปิดตัวไป ก็เพราะอาจจะไม่มีทายาทอสูรอย่างเรามาสืบต่อ เขาไม่รู้จักปรับตัวให้เข้ากับยุค พอไม่ปรับก็ยากที่จะไปต่อ ยากที่จะให้คนมารักและเข้าใจเครื่องหนัง”

 

       “คนที่ทำเครื่องหนังมาสามสิบสี่สิบปี ก็จะรู้สึกว่าตัวเองทำเครื่องหนังมาทั้งชีวิต ของฉันดี ทำไมเด็กรุ่นใหม่ไม่ใส่ ส่วนเด็กรุ่นใหม่ก็รู้สึกว่าของดีไซส์แบบนี้ต่อให้ ดีแค่ไหนฉันก็ไม่ซื้อ มันไม่มีความพอดี พอคนไม่ซื้ออาชีพช่างก็จะอยู่ต่อไม่ได้ พอไม่มีรายได้ก็จะรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่าลง”

“ขณะเดียวกันเด็กรุ่นใหม่ก็จะไม่เข้าใจของที่เป็นงานฝีมือ เลยเกิดการที่อาชีพช่างฝีมือมันลดน้อยลง การที่มีอยู่ของ ๓๑ธันวา เหมือนเป็นสะพานกลางที่จะเชื่อมใจของสองคนนี้ให้มันใกล้กัน พอทั้งสองใจมันใกล้กันและพร้อมสนับสนุนกันและกัน ทั้งแบรนด์เราและความเป็นช่างฝีมือก็สามารถไปต่อได้อย่างยั่งยืน”

เราทราบมาว่าเมื่อเร็วๆ นี้ ๓๑ ธันวา กลับมาเปิดหน้าร้านในห้างได้อีกครั้ง เป็นข่าวดีอันเอิบอิ่มใจ ที่เราได้รู้ว่าเรื่องราวของช่างฝีมือหนังไทย จะได้ถูกส่งต่อแบบจับต้องได้เหมือนก่อน

 

แม้หลังจากนี้จะไม่สามารถคาดเดาได้ว่า เหตุการณ์ในอนาคตจะดีหรือแย่ไปกว่าเดิม หลังจบบทสัมภาษณ์นี้ สิ่งหนึ่งที่เราจะเชื่อมั่นได้อย่างหนึ่งก็คือ ไม่ว่าวิกฤติรุนแรง หรือสภาวการณ์จะเลวร้ายสุดจินตนาการแค่ไหนก็ตาม ๓๑ ธันวา ของเก๋ จะได้อยู่ถ่ายทอดและส่งสืบเรื่องราวของช่างหนังไทยไปอีกนานแสนนาน

:::

พอแล้วดี The Creator : บุณยนุช วิทยสัมฤทธิ์ (เก๋)

ธุรกิจ : ๓๑ ธันวา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *