การปรับตัวอย่างคิดบวกและเชื่อในความเป็นไปได้ของ DOSE FACTORY อุดรธานี
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ร้านกาแฟเป็นหนึ่งในความฝันแห่งยุคสมัยของใครหลายๆ คน การได้ตื่นมาตอนเช้า ดื่มกาแฟ ล้อมวงสนทนาร่วมกับผู้คนที่คุ้นเคย ในบรรยากาศอันสวยงามและเป็นกันเอง …
เพียงแต่ว่าความฝันนั้น อาจไม่ใช่ทั้งหมด หากวันหนึ่งคุณได้ผันตัวมาเป็นเจ้าของร้านกาแฟ

นอกจากเรื่องการบริหารจัดการในทุกๆ วันปกติ งานหนัก ความเครียด ความกดดัน และความคาดหวังจากคนรอบข้าง เมื่อวิกฤติโรคระบาดเริ่มต้นขึ้น สิ่งเหล่านี้กลับเพิ่มขึ้นอีกเท่าทวีคูณ ถาโถมเข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว
“วิกฤติโควิดรอบแรก เป็นครั้งแรกเราไม่เคยเจอ เราก็ไม่กล้าเปิดด้วย ก็มีผลกระทบกับทีมงานค่อนข้างเยอะ ในส่วนของยอดขายก็หยุดไปเลย ไม่มีเงินเข้าร้านครึ่งเดือน” พี่นิ่ม เนาวรัตน์ คู่วัจนกุล เจ้าของร้าน DOSE FACTORY อุดรธานี ร้านกาแฟในรูปแบบ Positive and Possible Coffee ที่ต้องการสร้างพลังบวกและแรงบันดาลใจให้กับคนที่อยากกลับมาทำธุรกิจเพื่อพัฒนาบ้านของตัวเอง เล่าให้เราฟังกับการรับมือสถานการณ์โควิด 19
>>> Positive and Possible Coffee
ผมรู้จัก DOSE FACTORY เมื่อหลายปีก่อน ที่จริง ก่อนที่ Dose จะเข้ามาอยู่ในโครงการพอแล้วดีเสียอีก เป็นอีกหนึ่งร้านประจำสำหรับอาหารเช้าและกาแฟดีๆ ที่ต้องได้ไปนั่งสัมผัสกับบรรยากาศเมื่อไปเยือนเมืองอุดร คำถามคือ แล้วในช่วงโควิดที่ไม่สามารถเปิดร้านได้ตามปกติ ยังเป็นไปได้หรือไม่ ที่ Dose จะสื่อสารสิ่งที่ตั้งใจเอาไว้

“ จุดเริ่มต้นอยากทำกาแฟที่ดีให้คนอุดรได้กิน อยากเอาวัฒนธรรมที่เราเคยไปทำงานที่ออสเตรเลียมาทำร้านขายกาแฟดีๆ มีความแปลกใหม่ เราอยากที่เป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับชุมชนและสังคมผ่านการทำกาแฟ พยายามใช้วัตถุดิบทุกอย่างดีที่สุด เรารู้สึกว่าลูกค้ารับรู้ได้ ผลตอบรับดี สำหรับ Dose คือมันต้องมากินที่ร้าน ต้องมาสัมผัสบรรยากาศ มันถึงจะอร่อย ช่วงโควิดยอดมันก็เลยได้ไม่มาก แต่ก็ถือว่ายังไปได้ ”
>>> ยอมรับสถานการณ์แล้วไปต่อ
ในบางครั้งการเผชิญกับสถานการณ์อันเลวร้าย สิ่งที่ร้ายแรงที่สุด อาจไม่ใช่สถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้า แต่เป็นเรื่องของความยากลำบากในการยอมรับกับปัญหาที่อยู่ตรงหน้า จนทำให้เราไปต่อไม่ได้ เพราะไม่รู้จะนำพาตัวเองไปทิศทางไหน

“คือช่วงแรกๆ มันเหมือนกับยอมรับไม่ได้ พอมันยอมรับไม่ได้ มันก็เลยไม่รู้จะทำอะไร วิตกกังวลไปหมด เราเสพข้อมูลเยอะมาก เสพเพื่อที่จะหาความมั่นใจ แต่มันก็ไม่มี เพราะข้างในเรามันไม่ยอมรับ ก็ไม่มั่นใจสักที สิ่งที่มันกระทบค่อนข้างเยอะ คือพนักงาน เราก็ยังช่วยเรื่องเงินยังชีพ แล้วคนไหนที่สลับมาทำงานได้ เราก็ดูแลกัน พนักงาน 30 คน เราไม่ได้ให้ใครออกเลย”
“หลังจากที่ตั้งสติได้ก็เริ่มกลับมาทำ Take Away (ซื้อกลับบ้าน) กลับมาทำเรื่อง Delivery (ส่งถึงบ้าน) ทยอยดึงทีมงานกลับมา สิ่งที่ได้เรียนรู้ ตอนแรกก็ได้เรียนรู้เรื่องการยอมรับกับสถานการณ์ พอได้สติก็โอเคขึ้น มันก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจากช่วยคลายล็อคยอดขายก็พุ่งขึ้น”
>>> ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน
หลังจากการปรับตัวเพื่อรับมือโควิดในระลอกแรก สถานการณ์ของ Dose ก็กลับมาดีขึ้น ด้วยชื่อเสียงที่สั่งสมบวกกับภาวะความอัดอั้นของคน ที่รอการกลับมาเปิดให้เข้านั่งอย่างปลอดภัย ทุกอย่างดูเหมือนจะกลับมาปกติ แต่นั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่แน่นอน
“โควิดรอบ 2 มีผลกระทบค่อนข้างน้อย เพราะที่อุดรไม่มีคนติดเชื้อ คนในจังหวัดก็ไม่ได้กลัว อาจจะโชคดีตรงที่ว่า ด้วยความที่ร้านเรามันโล่งมาก กว้าง โปร่ง สูง 5 – 6 เมตร ช่วงใกล้ๆ สงกรานต์เริ่มเดือนเมษายนขายดีมาก ทุกคนที่ทำธุรกิจก็คงมีความสุข คิดว่ามันจะฟื้น Dose เองก็เตรียมสินค้าเอาไว้เพื่อขายช่วงสงกรานต์ เพื่อนๆ ที่ทำร้านอาหาร ร้านกาแฟก็คล้ายๆ กัน คือเริ่มซื้อของมาไว้ เราก็ไม่ได้คาดคิดว่ามันจะกลับมาอีก พอเตรียมของไว้เยอะๆ ก็พลิกล็อคมากเลย รอบ 3 ก็เลยแบบว่าหนัก”
>>> ประสบการณ์สอนให้เราเรียนรู้
โควิดระลอกแรก Dose ผ่านการปิดร้าน และเรียนรู้เพื่อปรับตัว จากที่คิดว่า อาหารอร่อยเมื่อมาทานที่ร้าน เปลี่ยนเป็นอาหารแบบซื้อกลับและแบบจัดส่ง เพื่อรักษาธุรกิจเอาไว้ ซึ่งได้ผลดีจนทำให้ธุรกิจอยู่รอดในช่วงเวลานั้นมาได้

ส่วนในระลอกที่สอง Dose ทำธุรกิจด้วยความมั่นใจ ในสถานการณ์ที่ดูเหมือนจะฟื้นคืนกลับมา แต่ก็เจอเข้ากับปัญหากับความไม่แน่นอนในท้ายที่สุด จนกระทั่งเมื่อเหตุการณ์พลิกผันในระลอก 3 ประสบการณ์การรับมือกับโควิดที่ผ่านมา ช่วยให้ Dose สามารถเตรียมพร้อมกับได้อย่างทันท่วงที
“โควิดรอบ 3 ด้วยความที่มันกระจายเร็ว คนก็เลยกลัวมาก แต่เรามีบทเรียนจากรอบแรก จึงปรับตัวได้เร็วหน่อย เรายอมรับสถานการณ์ได้เร็วขึ้น พอเรารู้ก็เริ่มวางแผนเลยว่า เราจะทำอะไรได้บ้าง”
“สำหรับอาทิตย์แรก สิ่งที่ต้องทำคือเคลียร์วัตถุดิบ เราต้องจัดการเพื่อให้วัตถุดิบเราไม่สูญเปล่า เริ่มคิดโปรโมชั่นต่างๆ การขายอย่างคืนกำไรให้ลูกค้าแบบไม่เอากำไร ทั้งโปรโมชั่นลด 50% โปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 ต้องทำอะไรที่เราไม่เคยทำ กลับหัวคิดไปเลย แล้วก็บวกกับเอาบทเรียนเก่าๆ สิ่งที่เราเคยทำเมื่อก่อน อะไรทำได้ผลก็จะลองมาใช้ใหม่ ว่ายังได้ผลอยู่ไหม เช่น เมื่อก่อนเราทำบุฟเฟต์บ้าง มีทำเมนูพิซซ่า 1 แถม 1 กาแฟ 1 แถม 1 คือรอบนี้เราก็ทำทุกโปรโมชั่น แล้วก็พยายามที่จะจัดการวัตถุดิบให้ได้ แล้วพอจัดการวัตถุดิบได้ สถานการณ์เราก็บรรเทาขึ้น เราก็เริ่มมามองว่า จะทำอย่างไรให้มันยังมีรายได้เข้ามาอยู่ สิ่งที่ทำมีอยู่ 3 เรื่องหลักๆ …
เรื่องแรก คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้มีเงินสดเข้ามา มันจะไม่ได้กำไรก็ไม่เป็นไร แต่ต้องมีเงินเข้ามา
เรื่องที่สอง คือ เราต้องทำให้ทีมมีงาน มีความวุ่นๆ ที่จะต้องทำงาน เพราะสิ่งนี้มันเป็นกำลังใจ เนื่องจากเราเคยปิดร้านไป 14 วัน เหมือนธุรกิจมันตาย พอมันตาย คน 30 กว่าคนมันไม่มีชีวิตชีวา ไม่มีกำลังใจ มันคิดเยอะ มันเครียด มันสารพัด
รอบนี้ก็เลยชวนทีมงานคิดว่า เราจะทำอะไรที่มันนอกกรอบไปเลยได้บ้าง เพื่อที่จะให้เรามีงาน แล้วก็ยุ่งๆ ตลอดเวลา ก็ได้ผล พอจัดโปรโมชั่น มันก็เริ่มมีงานมากขึ้น จากพนักงานเสิร์ฟที่ไม่มีคนมาที่ร้าน ไม่เป็นไร ก็จัดของ ออกไป Delivery น้องที่ทำแต่ละส่วน เราก็ผสมงานหมดเลย คนที่จะต้องอยู่งานเดิมของตัวเองก็อยู่ไป คนที่ไม่ต้องอยู่ก็สลับไปเลย บางคนดึงมาเป็น Admin ช่วยออนไลน์ ส่วนบาริสต้าไปช่วยในครัว

เรื่องที่สาม คือ เราต้องเข้าออนไลน์อย่างแน่นอน ตอนนี้พึ่งหน้าร้านอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เมื่อก่อนรายได้ 80 – 90% มาจากหน้าร้าน ตอนนี้เหมือนกับคนมาร้านไม่ได้ ก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้สินค้าของเราไปให้ลูกค้าเห็นในมือถือ ไปขายที่บ้านเขา ตอนนี้ก็ปรับตัวเอง เพื่อจะเรียนรู้และเข้าสู่ออนไลน์มากขึ้น จากเมื่อก่อนที่เราคิดว่า เราไม่ค่อยเต็มตัวหรือทุ่มเทกับการทำออนไลน์ ตอนนี้ก็ต้องทำจริงจังมากขึ้น”
>>> ปรับตัวไม่ใช่ทิ้งความเป็นตัวเอง
หลากรูปแบบที่เราเห็นจากการปรับตัวของธุรกิจต่างๆ ซึ่งหลายครั้งอาจใช้คำว่า “ดิ้นรน” จะเข้าเค้าเสียมากกว่า หลายธุรกิจเมื่อรายได้ไม่สามารถประคับประครองกิจการต่อไปได้ ก็พยายามทำทุกวิถีทาง จนลืมไปว่า อะไร คือวิถีทางในแบบฉบับของตัวเอง
“ช่วงที่ปรับตัวเข้ากับโควิด ประสบการณ์ที่ดึงมาใช้มากๆ คือ การเรียนจากพอแล้วดี และการไม่ยอมแพ้ในการทำธุรกิจ สิ่งหนี่งที่เราเอามาใช้แรกๆ ก็คือ ปกติเราเจอวิกฤติ เราจะพยายามทำอะไรก็ได้เพื่อสร้างรายได้ จนบางทีมันลืมว่าเป็นสิ่งที่เป็นคุณค่าของเราไหม มันเป็นแก่นที่เราทำหรือเปล่า เราก็ต้องยึดอยู่กับแกนของเรา ว่าคุณค่าของแบรนด์เราคืออะไร แต่พอมันเจอวิกฤติ เราก็พยายามดิ้นรนเพื่อทำรายได้ จนบางทีมันลืมไป เราถูกเตือนสติและกลับมาคิดว่า เราทำอย่างนี้ไปทำไม”

“หลายครั้งพี่ก็คิดว่า เราไปทำร้านคลาวด์คิทเช่น แบบขายข้าวผัดกะเพราดีไหมนะ เราก็กลับมาย้อนคิดว่า มันไม่ใช่คุณค่าหลักของเรา ถ้าเราไปทำแบบนั้น เราก็ไปแข่งกับอีกตลาดหนึ่ง ก็เหมือนกับเราไปแข่งกับคนที่เขาทำอยู่แล้ว เราจะไปแย่งตลาดเขาทำไม ทำแล้วก็ไม่ได้เสริมคุณค่าของตัวเอง ก็ไม่ได้ตอบโจทย์อะไร เราก็ได้สติมากขึ้น”
>>> Positive = Possible
ด้วยสถานการณ์ที่บีบคั้นเช่นทุกวันนี้ เชื่อว่าแทบทุกธุรกิจยังคงเผชิญกับปัญหาและความยากลำบากไม่ต่างกัน สิ่งที่เป็นความหวังสำหรับอนาคต พี่นิ่มบอกกับเราว่า Dose ใช้วิธี “คิดบวกเข้าไว้”
“ถ้าพูดแบบ Dose พี่ก็มองว่า มันต้องมีความเชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้น ต้องมีความหวัง คือทุกคนที่ทำธุรกิจ ถ้าเราคิดว่ามันจะจบ ก็ไม่มีความหวัง สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับคนทำธุรกิจเองคือ เราต้องมีหวัง มีความเชื่อ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้มันชั่วคราว
“ไม่ว่าสถานการณ์มันจะย่ำแย่แค่ไหน โควิดจะมาหรือว่าจะอยู่กับเราอีกนานแค่ไหน ถ้าเรามองสิ่งนี้เป็นเรื่องชั่วคราว แล้วเน้นว่าความหวังข้างหน้ามันคืออะไร เราก็จะตั้งคำถามใหม่ว่า แล้วถ้าทุกอย่างมันดีขึ้น หรือสิ่งนี้มันจบลง ตอนนั้นเราจะเป็นอย่างไร เราจะพัฒนาอะไร จะดียังไง จะพร้อมที่จะสู้ยังไง เราเติบโตอะไรบ้าง ก้าวข้ามอะไรมา แล้วเราได้เรียนรู้อะไรกับมัน ถ้าเราเห็นอนาคตว่า เรายังอยู่ เราก็จะเตรียมตัวเพื่อมีความสุขกับอนาคต”
:::
พอแล้วดี The Creator : เนาวรัตน์ คู่วัจนกุล (นิ่ม)
ธุรกิจ : DOSE FACTORY อุดรธานี
#พอแล้วดีกับโควิด19 #พอแล้วดีTheCreator
#พอแล้วดี #ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง #TheCreator #ศาสตร์พระราชา #PorLaewDee #SufficiencyEconomyPhilosophy