สิ่งที่เราอยากรู้มาตลอดช่วงโควิด ในสภาวการณ์ที่หลายๆ อาชีพต่างได้รับผลกระทบ งานบริการแทบจะต้องพับกิจการในบางจังหวะเวลา ท่องเที่ยว อาหาร วงการบันเทิง ทุกภาคต่างรับมือกับภาวะฝืดเคืองอันเนื่องมาจากโรคระบาด แล้วอาชีพที่เป็นงานด้านดีไซน์ ใช้ความคิด อยู่กับตัวเองเพื่อออกแบบเขียนแบบหล่ะ โควิดส่งผลอะไรกับพวกเขา….“โควิดไม่ได้มีผลกับบริษัทเลย ถึงแม้จะมีวิกฤติโควิด แต่กลับกลายเป็นว่าเรามีงานเยอะมาก” แก้ว คำรณ สุทธิ แห่ง Eco Architect ตอบกับเราแบบไม่ลังเล.

โควิดทำให้คนรู้จักบ้านของตัวเอง
“เพราะว่าพอเกิดโควิด คนต้องอยู่บ้านมากขึ้นในช่วงกลางวัน ยิ่งคนที่อยู่คนโดจะมาหาเราเยอะมาก เพราะบ้านที่อยู่ อยู่ไม่สบาย” .หลังจากฟังเหตุผลของพี่แก้ว เรารู้เลยว่าเป็นเรื่องจริง และเป็นเรื่องที่สำคัญ โควิดทุกคนได้อยู่บ้านของตัวเองมากขึ้นผ่านการ Work from home เราอยู่บ้านนานขึ้น หลากหลายช่วงเวลาขึ้น ก็ยิ่งได้รู้จักบ้านของตัวเอง และอาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เราทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยลง เพราะพบว่าบ้านที่เราอยู่ มันช่างอยู่อาศัยไม่สบายเอาเสียเลยถึงแม้จะออกแบบตกแต่งสวยหรูแค่ไหนก็ตาม.“ก่อนหน้านี้เราแค่อยากสร้างความเป็น ECO วิ่งหาลูกค้า และบอกลูกค้าเกี่ยวกับ Passive Design (การออกแบบอาคารให้มีความสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสภาวะน่าสบาย และลดการใช้พลังงาน) ซึ่งลูกค้าไม่เข้าใจ แต่หลังจากจบพอแล้วดี เราโฟกัสได้มากขึ้น ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงทำมาเรื่อยๆ จนเหมือนเป็นภูมิคุ้มกัน เรารู้จักตัวเองจนบอกได้ว่า ไม่ใช่แค่ Passive Design แต่ต้องเป็น… บ้าน ที่หายใจร่วมกับธรรมชาติ”
รู้จักตนบนเส้นทางที่แคบ แต่ลึกซึ้ง
“ก่อนหน้านี้รับงานเกือบทั้งหมด เพราะเราอยากสร้างความเป็น ECO ให้กับโลก แต่บางอย่างมันเยอะเกินไปไม่ชัด ภายหลังจึงเลือกทำงานเพียงแค่ 2 ประเภทคือ บ้าน และโรงแรมรีสอร์ท”
ด้วยระบบความคิดที่เปลี่ยนไป ทำให้ Eco Architect ทำงานอย่างเฉียบคมขึ้น เสียงนิยม คำชื่นชม จึงเป็นส่วนสำคัญที่สร้างรากฐานให้บริษัทเติบโตอย่างมั่นคงแข็งแรง แม้แต่โควิดก็ทำอะไรพวกเขาไม่ได้
“การที่เรายึดมั่นเรื่องการดูแลลูกค้าที่ดี สัญญาอะไร ต้องทำให้ได้ ยิ่งเป็นช่วงก่อสร้าง คนจะมองว่า สถาปนิกงานแบบจบก็จบงาน แต่เราจะไปช่วยดูงานจนสร้างเสร็จ เรามองว่าไม่มีอะไรเสียเปล่า … ขาดทุนคือกำไร… เราขาดทุนเวลา แต่เราได้ความสัมพันธ์กับลูกค้า ได้ไปช่วย ได้แก้ปัญหา ได้เรียนรู้ เป็นกำไรที่เราได้มาแบบที่เงินก็ซื้อไม่ได้”
“จากแต่ก่อน มีแค่เวลาส่งแบบ ถึงจะได้คุยกับลูกค้า ตอนนี้กลายเป็นคุยกันตลอด กลายเป็นเพื่อน เป็นญาติ ที่คุยกันได้ทุกเรื่อง เราก็ได้ความเป็น Human Centric ได้ดีกว่าเดิม ยิ่งทำให้ลูกค้าเก่า กลายมาเป็นกระบอกเสียง ใครมาเห็น ก็มีคำถามตลอด ว่าบ้านใครออกแบบ ลูกค้าเรา ก็ตอบกลับไปอย่างภูมิใจ ว่า Eco Architect เป็นทีมออกแบบ”
โควิดกับมนุษย์ออฟ’ติสท์ที่หายใจไม่ออก.
“ช่วงโควิดกลับเป็นว่าต้องมาจัดการกับครอบครัวในออฟฟิศของเรา ไม่ให้รู้สึกเหงา ไม่ให้รู้สึกอยู่คนเดียว”
หลังจากเกิดวิกฤติโควิด เหล่าสถาปนิกที่เคยทำงานร่วมกันเป็นทีม เจอหน้ากันทุกวัน เดินคุยเล่นหยอกล้อจากโต๊ะสู่โต๊ะ ต้องระเห็จไปใช้ชีวิต “ตัวคนเดียว” ยิ่งเป็นเด็กต่างจังหวัดเข้ามาทำงานเมืองใหญ่แล้ว การทำงานแบบ Work from home ยิ่งทำให้ความโดดเดี่ยว จู่โจมถาโถมเข้ามาแบบไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว
“มีน้องสถาปนิกคนนึง เขาเป็นคนเงียบๆ แต่ก็ทำงานเป็นทีมสนุกสนานปกติ พอต้องไปอยู่คนเดียว ไม่ได้คุย ไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กับคนแล้วมันเหงา ยิ่งพอต้องทำงานแล้วแก้บ่อยๆ น้องเขารู้สึกเหมือนตัวเองทำผิดอยู่ตลอดเวลา เพราะบางทีการสื่อสารออนไลน์ มันไม่เหมือนเวลาที่เรานั่งคุยกัน แต่เขากลับรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนทำผิดซ้ำซากอยู่เรื่อยๆ น้องโทรมาร้องไห้ รู้สึกโดดเดี่ยว เราต้องค่อยๆ ปลอบเขา”
ด้วยสภาพแวดล้อมของห้องสี่เหลี่ยม มองออกไปก็ตึก มองกลับเข้ามาก็พนังปูน โดดเดี่ยว ไม่มีธรรมชาติ ไม่มีต้นไม้ ไม่มีใครให้หัวเราะ หรือช่วยแบ่งเบาความเหงาที่ปกคลุมเต็มห้องกล่องนี้ไปหมด
“เราคิดไว้ถึงขนาดที่ว่า ถ้าโควิดยังอยู่ต่อไป เราจะมีบ้านสักหลัง ให้เป็นโฮมออฟฟิศของพนักงาน กินอยู่หลับนอนกันที่นั่นไปเลย ได้ออกมาทำกับข้าว ได้ปลูกต้นไม้ เลี้ยงหมาเลี้ยงแมว เพราะในที่สุด… คนเราต้องการสังคม”

ออกไซท์งานไม่ได้ ก็ให้เทคโนโลยีทำแทน
เป็นที่รู้กันว่า อีกงานหนึ่งของสถาปนิกที่สำคัญ คือการลงพื้นที่ไซท์งาน ไม่ว่าจะเป็นช่วงก่อนทำ ระหว่างทำ หรือแม้แต่จบงานเพื่อตรวจเช็คคุณภาพ ยิ่งเป็น “บ้านที่หายใจร่วมกับธรรมชาติ” ยิ่งต้องแม่นยำว่าการทำงานของระบบหายใจไม่มีอุปสรรคใดๆ มาขัดขวางทางเดินหายใจอันละเอียดอ่อน. “เราใช้ระบบถ่ายวิดีโอ เจ้าของบ้านเดินถ่ายทอดสดและอธิบาย ที่ผ่านมาผู้รับเหมา กับเจ้าของบ้านทำได้ดี ช่วยได้เยอะ โควิดทำให้เราเรียนรู้ว่า ไม่ต้องไปไซท์ทุกวันก็ได้ ลดคาร์บอนไปอีก”
พี่แก้วบอกเราว่า ต่อไปแม้หลังวิกฤติโรคระบาด ก็อาจจะยังใช้วิธีนี้ในบางช่วงบางตอน ไม่ต้องไปไซท์งานบ่อยๆ ก็ลดการเดินทาง ลดการใช้รถ คงลดการใช้คาร์บอน การใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองลงไปได้อีกไม่มากก็น้อย แต่สิ่งที่พี่แก้วเน้นย้ำกับเราอย่างหนักแน่นก็คือ อย่างไรก็ตาม เจ้าของบ้านและ Eco Architect ต้องได้เจอ ได้คุยกันแบบเห็นหน้าค่าตา
มนุษย์ที่หายใจร่วมกับบ้าน ร่วมกับธรรมชาติ
“เราเป็นมนุษย์ เราทำงานอย่างหุ่นยนต์ไม่ได้ การสบตา การได้ยินเสียง ทำให้เรามีความสุขกับการทำงาน แล้วความสุขของการทำงานมันก็จะกลับมาช่วยเติมเต็ม Passion ที่อยากทำให้บ้านทุกหลังหายใจร่วมกับธรรมชาติ โควิดทำให้ต้องห่างกัน แต่มันเป็นเรื่องของสติ และการใช้เหตุผล ต้องหยุดคิด และค่อยเดินต่อ พอเรามีสติ อะไรก็ไม่ได้ร้ายแรง ก็แก้ปัญหาได้ถูกจุด”
ตรงนี้แหละที่เราประทับใจ Eco Architect นอกจากจะสร้างบ้าน ที่หายใจร่วมกับธรรมชาติแล้ว พวกเขายังไม่เคยลืมความเป็นมนุษย์ที่อาศัยในบ้าน และไม่ลืมว่ามนุษย์ก็หายใจร่วมไปกับบ้าน ไปกับธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน
กลายเป็นว่าเพราะวิกฤติโควิด สิ่งที่เราได้เรียนรู้จาก Eco Architect กลายเป็นการเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ มากกว่าเรียนรู้การสร้างบ้านที่หายใจร่วมกับธรรมชาติเสียอีก ตั้งแต่ความเป็นมนุษย์ของน้องๆ สถาปนิก ความเป็นมนุษย์ ของลูกค้าที่ดูแลกัน เกินกว่าแค่เป็นคนออกแบบกับคนจ่ายเงิน
eco architect
โควิด วิกฤติโรคระบาดจะรุนแรงลุกลามขนาดไหน เห็นได้ชัดว่า การรู้จักตัวเองว่าเป็นใคร ทำสิ่งใดๆ อย่างเป็นเหตุเป็นผล และมีการจัดการบริหารความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกัน ผสานรวมเป็นเกราะป้องกันอย่างที่ Eco Architect มี ไม่ว่าวิกฤติใด ก็จะกลายเป็นแค่เพียง อีกหนึ่งความทรงจำในสมดุลลมหายใจของเรา
:::
พอแล้วดี The Creator : คำรน สุทธิ (แก้ว)
ธุรกิจ : Eco Architect