คุณคำรน สุทธิ

ในปัจจุบัน ถ้าพูดถึงสถาปัตยกรรมสีเขียวหรือการออกแบบอาคารบ้านเรือนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เราอาจจะพอนึกภาพได้ แต่ในวันที่ แก้ว-คำรน สุทธิ ก่อตั้งบริษัท Eco Architect นั้น เเนวคิดของสถาปัตยกรรมรักษ์โลกยังไม่ได้เป็นที่นิยมในเมืองไทยเท่าไหร่นัก

“เราอยากทำงานในสิ่งที่เรารัก ไม่อยากทำงานตามกระแสสังคม ตอนนั้นเราไม่รู้ด้วยว่าในไทยมีบริษัทที่ทำงานเกี่ยวกับ Green Architecture บ้างไหม เลยตัดสินใจเปิดบริษัทของตัวเอง เริ่มจากที่เราค่อยๆ ทำทีละนิด ตอนแรกก็ทำไปคนเดียว พอมีงานมากขึ้นเราก็เริ่มหาน้องๆ มาช่วยทำงาน”

จากการเติบโตทีละเล็กทีละน้อยจากผลงานที่ได้รับการชื่นชมและบอกต่อกันไปปากต่อปาก ทำให้ Eco Architect มีลูกค้าใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น บริษัทขยายมากขึ้น ภาระหน้าที่มากขึ้น จนกระทั่งมัน ‘มากจนเกินไป’

“เรารู้จักคำว่าพอเพียงอยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่ามันสามารถนำมาใช้กับเรื่องอื่นนอกจากเกษตรกรรมได้” สถาปนิกหนุ่มยอมรับว่าเขามีความเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแค่ในแง่มุมนั้น จนกระทั่งสิ่งนี้แก้ไขความมากเกินและล้นไปในธุรกิจของเขาได้จริง

จากที่สงสัยและตั้งคำถาม แนวคิดแบบพอแล้วดีทำให้แก้วมีเวลาทบทวนตัวเอง กล้าแสดงตัวตนของเขาให้ผู้คนรอบข้างได้เข้าใจ และเปลี่ยนวิธีที่สามารถส่งต่อคุณค่าของตัวเองออกไป ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ความสุข ความสบาย จากบ้านในฝัน

“การที่เราจะมีบ้านสักหลังมันยากมากสำหรับสังคมไทย เขาต้องทำงานอย่างหนัก ต้องเก็บเงินอย่างหนักเพื่อที่จะมาสร้างบ้านซักหลัง”

แก้วเล่าย้อนกลับไปถึงช่วงที่เขาเป็นเด็กหนุ่มสถาปนิกจบใหม่ ตอนที่มีโอกาสได้ออกแบบบ้านหลังแรกๆ ให้ลูกค้า แก้วเลือกออกแบบให้เป็นบ้านกล่องๆ ตามความชอบของตัวเอง โดยไม่มีความรู้เลยว่าบ้านลักษณะนี้อาจจะไม่เหมาะกับสภาพอากาศของบ้านเรา

“หลังจากสร้างเสร็จเราไปเยี่ยมเขา ก็เจอว่ามันเป็นบ้านที่ต้องปิดประตู ปิดม่าน อัดแอร์ตลอด เป็นเหมือนบ้านตู้เย็น โดยที่เขาไม่ได้มีความสัมพันธ์กับธรรมชาติที่อยู่รอบๆ เลย ทั้งที่เรารู้ว่าลูกค้าเขาตั้งใจจะมีบ้านที่อยู่สบาย บ้านที่มีความสุข แต่เราไม่สามารถทำสิ่งนั้นได้ มันกลายเป็นอะไรที่มาตำหัวใจเราให้ย้อนกลับถามตัวเองว่าทำอะไรลงไป เราจะเป็นสถาปนิกที่ออกแบบบ้านให้คนอยู่สบายไม่ได้เหรอ” สถาปนิกหนุ่มเล่าน้ำตาคลอ

“ลึกๆ เเล้วเรามีความเชื่อว่า บ้านที่อยู่สบายไม่จำเป็นต้องเป็นบ้านที่เปิดแอร์ตลอดเวลา ควรจะเป็นบ้านที่อยู่กับธรรมชาติ มีความสัมพันธ์และใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ ให้สภาพแวดล้อมข้องเกี่ยวกับตัวบ้านเพื่อให้เขาอยู่สบาย ที่ไม่ใช่แค่ความสบายภายนอก แต่ต้องเป็นความสบายไปถึงในจิตใจด้วย”

แก้วบอกว่าปัญหาของเขาในตอนนั้นคือขาดองค์ความรู้ในการนำแนวคิดการสร้างบ้านอยู่สบายมาปรับใช้กับการทำงานจริง เขาจึงตัดสินต่อไปเรียนต่อปริญญาโทในสาขา Ecological Architecture หรือนิเวศวิทยสถาปัตย์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้เขาค้นพบแนวทางการออกแบบที่ตัวเองต้องการมากยิ่งขึ้น

รู้จักตัวเองอย่างพอดี

“แนวคิดแบบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สอนให้ผมรู้จักตัวเอง แต่ก่อนเราคิดว่าเรายังเป็นคนทั่วไปที่มีความชอบแบบนี้ อยากทำอะไร แต่ว่าไม่กล้าที่จะออกมายืนว่าฉันจะทำสิ่งนี้เท่านั้น สิ่งที่ชอบเท่านั้น เราเปิดออฟฟิศชื่อ Eco แต่ก็ยังไปรับงานคอนโด ไปรับงานสะเปะสะปะมาก อย่างแรก ชื่อบริษัทกับงานเรามันก็ไม่ไปด้วยกันเเล้ว พอคิดได้ ก็ควรทำให้มันดีสักอย่างหนึ่ง ทำให้เราชัดเจนในตัวเอง และกล้าบอกในสิ่งที่เราเป็น”

หลักการสร้างบ้านในแบบของแก้ว คือการสร้างบ้านที่หายใจร่วมกับพลังธรรมชาติ ซึ่งหมายรวมไปถึงการพยายามสร้าง footprint ให้ผืนดินน้อยที่สุด โดยในที่ดินผืนหนึ่งจะเก็บพื้นที่เอาไว้อย่างน้อย 30% สำหรับสร้างระบบนิเวศรอบบ้าน เนื่องจากต้นไม้จะช่วยกำบังแดดและความร้อนให้กับตัวบ้านได้ มีงานวิจัยบอกว่าต้นไม้ช่วยดูดซับรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ได้ถึง 70% เป็นเหตุผลว่าทำไมบริเวณที่มีต้นไม้ถึงร่มเย็นกว่าบริเวณที่ไม่มีต้นไม้

“บ้านที่มีระบบนิเวศที่ดี ก็จะทำให้ผู้อยู่อาศัยดี แล้วก็จะส่งผลให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีด้วย ผมเชื่อว่าถ้ามีบ้านลักษณะนี้ แนวคิดแบบนี้ถูกนำไปใช้เยอะๆ จะสามารถช่วยลดอุณหภูมิโดยรวมของเมืองได้ และช่วยลดการเกิดปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมือง (Urban Heat Island) ได้ด้วย”

ผลงานที่พอดี คนทำต้องพอดีก่อน

เมื่อรู้จักตัวเอง ทำให้สถาปนิกหนุ่มกล้าที่จะปฏิเสธงานมากขึ้น และเลือกงานที่เหมาะสมกับบริษัทของเขามากขึ้น

“เมื่อก่อนใครมาให้เราออกแบบ เราก็รับหมดด้วยความยินดี จนหลังๆ เราทำงานหนักมาก ทำงานอาทิตย์ละ 7 วัน ตั้งแต่ 6 โมงเช้ายัน 4 ทุ่ม พอเราทำงานหนัก ทุกคนก็ทำงานหนักมากจนไม่มีเวลามาดูแลตัวเองเหมือนกัน”

“ตอนนี้ผมเรียนรู้แล้วว่า การที่เราจะไปสร้างอะไรดีๆ ให้คนรอบข้างเราหรือสังคม มันต้องเริ่มจากคนที่จะสร้างก่อน น้องๆ เราก็ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีก่อน ก็เลยบอกกับน้องๆ ว่าต่อไปนี้เราจะทำงานกันจันทร์ถึงศุกร์ เอาเวลาที่เหลือ 2 วันไปหาความสุขใส่ตัว ไปทำให้สุขภาพตัวเองแข็งแรง ไปอยู่กับครอบครัว แล้วเอาพลังพวกนั้นมาระเบิดกับงานที่มีอยู่ดีกว่า ทำแบบนี้หนึ่งเดือน รู้สึกว่างานดีขึ้นเยอะ เขามีพลังขึ้น กระปรี้ประเปร่ามากขึ้น และงานเสร็จเร็วขึ้นเยอะเลย” แก้วเล่ายิ้มๆ

นอกจากระบบการทำงานที่ช่วยให้ทุกคนสบายกาย อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือความสบายใจที่สามารถเลือกงานที่เขาอยากทำจริงๆ ได้

“เมื่อก่อนลูกค้าอยากได้งานสไตล์อังกฤษ เราก็ต้องฝืนทำทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นตัวเราเลย แต่ตอนนี้เราเลือกงานที่เราอยากทำจริงๆ ได้ มันก็ทำให้เราทำงานสบายขึ้น ไม่ต้องทำงานแบบไม่ต้องฝืนธรรมชาติของตัวเอง”

มีเหตุและผลในการออกแบบชีวิต

ความชัดเจนในตัวเอง กลายเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนให้ 3 ห่วงของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งรู้จักตนเอง มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกัน เกิดขึ้นมาได้พร้อมๆ กันในธุรกิจของ Eco Architect

“แต่ก่อนรับเรตราคาออกแบบเหมือนทั่วไป อาจจะรับน้อยกว่าบริษัทใหญ่ๆ ด้วยซ้ำ เพราะเราก็ตัวเเค่นี้ เราไม่มั่นใจเลย เราเป็นสถาปนิกที่ก็พอออกแบบได้นะ เเต่ตอนนี้เราก็กล้าที่จะบอกว่าเราทำแบบนี้ แล้วเราทำได้ดีด้วย พอรู้จักตัวเองทำให้เรากล้าปฏิเสธ มีเหตุผลในการรับงาน และกล้าเพิ่มค่าธรรมเนียม เพราะเรามองว่าตนเองเป็น คนเชี่ยวชาญทางด้านนี้ ทำให้คนที่มาหาเราก็เพราะเขาต้องการสิ่งนี้”

สำหรับสถาปนิกที่บอกว่าตัวเองไม่เคยสนใจเรื่องการทำธุรกิจ แนวคิดแบบพอแล้วดีสามารถเปลี่ยนแนวคิดในการทำบริษัทของเขาได้  “เราคุยกับน้องๆ ในออฟฟิศ ว่าในอนาคตอยากจะมีโครงการหนึ่งที่ทำให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในสิ่งที่เราทำเพื่อสังคม เราจะนำค่าธรรมเนียมที่ได้เพิ่มขึ้น มาทำอะไรบางอย่างให้สังคม อย่างเช่น ห้องเรียนอยู่สบายสำหรับเด็กชนบท เราอยากให้เด็กๆ เห็นความอยู่สบายในมุมที่กว้างมากกว่าแค่ตัวเอง แต่หมายถึงโลกใบนี้”

และนั่นคือคุณค่าที่สถาปนิกคนหนึ่งจะส่งต่อให้โลกใบนี้ ในการออกแบบความพอดีในการใช้ชีวิตให้ผู้คน

“ก่อนหน้านี้ เราก็คิดว่าเราทำงานเพื่อตนเอง เพื่อครอบครัว มีเงินพอเลี้ยงลูกน้อง แต่พอเข้าใจแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เราก็อยากมีธุรกิจที่แข็งแรงขึ้น มีระบบมากขึ้น กล้าที่จะยืนพูดในสิ่งที่เราทำ เเล้วก็กล้าที่จะเเบ่งปันในสิ่งที่เรามีพอแล้วให้กับคนอื่น”