ศิลปะแห่งการปรับตัวของธุรกิจในแบบ Joon Studio
ในช่วงวิกฤติหากใครไร้ซึ่งศิลปะแห่งการปรับตัว แบรนด์นั้นอาจล่มสลายลงไปในช่วงไม่กี่อึดใจ การปรับตัวจึงเป็นอีกหนึ่งรูปแบบทางศิลปะที่เรียกได้ว่า สำคัญมหาศาลกับช่วงเวลาภายใต้ภาวการณ์ระบาดของโควิดอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้
เราพาไปพบกับเรื่องราวการปรับตัวในช่วงโควิด ของแบรนด์ศิลปะที่ชวนให้ทุกคนได้มา “ระเบิดจากข้างใน” บนพื้นที่ศิลปะของ Joon Studio พื้นที่ที่ชวนคนมาค้นหาตัวเองผ่านศิลปะจากงานเซรามิค
คุณคือศิลปิน เราคือผู้สร้างสรรค์
ศิลปะคืออะไร ศิลปินต้องเป็นคนแบบไหน และคำถามที่ยกระดับไปอีกขั้น ถ้าคนทำงานศิลปะที่ไม่ได้เรียกตัวเองว่าศิลปิน เราควรเรียกขานเขาด้วยนามใด
“สำหรับจูน จูนไม่ใช่ศิลปิน และแบรนด์จูน สตูดิโอ ก็ไม่ใช่แบรนด์ศิลปิน แต่จูน สตูดิโอ เป็นแบรนด์ที่ทำให้คนได้เห็นสิ่งรอบๆ ตัว ทำให้รู้ว่าเรามีอะไรดี อะไรสวยงามรอบๆ ตัว แล้วเอามานำเสนอให้ง่ายขึ้น เพราะถ้าเป็นศิลปินมันยึดติดในเส้นทาง แล้วปรับตัวได้ยาก แต่ถ้าเราสร้างสรรค์และสนุกกับมัน มันจะทำให้เราไปต่อได้ยาว”
“สำหรับ จูน สตูดิโอ ศิลปินคือคนที่ทำงานสร้างสรรค์ ไม่มีกรอบในตัวเอง ถ้าเราสร้างสรรค์และสนุกกับมันคุณคือศิลปิน เราคือผู้สร้างสรรค์”

วิกฤติสร้างศิลปิน
ด้วยความเชื่อต่อการเป็นผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ ให้กับความเป็นศิลปินที่แฝงอยู่ในตัวทุกคน สถานการณ์โควิดที่ทำให้คนต้องเก็บตัวอยู่บ้าน อยู่กับตัวเองมากขึ้น เช่นนั้นแล้ว เมื่อใครก็ตามที่ได้นำตัวเองมายัง Joon Studio เมื่อนั้น ความเป็นศิลปินในตัว ก็ได้ระเบิดขึ้น
“ช่วงโควิดคนต้องอยู่บ้าน แต่บางทีเขาไม่ได้อยากได้ในสิ่งที่เราให้ เราจึงต้องเป็นผู้เชื่อมโยงการสร้างสรรค์ให้เขา เขาเป็นผู้ดีไซน์ แล้วเราเป็นคนทำให้ เพราะ Joon Studio เป็นพื้นที่จุดเชื่อมโยงในการสร้างสรรค์ สำหรับจูน Joon Studio ไม่ใช่พื้นที่จริง แต่เป็นพื้นที่ในความคิด พื้นที่สำหรับการหาตัวตนของทุกคน ที่จูนโชคดีก็คือ เราอยู่ใกล้กรุงเทพ ในระยะ 60 -100 กิโลเมตร ยิ่งช่วงโควิด ลูกค้าส่วนใหญ่ก็แค่อยากออกมาจากกรุงเทพ เขาก็เลยขับมาเรียนทำเซรามิค มานั่งพักผ่อนด้วย ช่วงโควิดจึงเป็นช่วงที่จูนพัฒนาไปเยอะ”
Joon Studio กับโควิด-19 Joon Studio กับโควิด-19
ศิลปะแห่งการปรับตัว
การปรับตัวของ Joon Studio เริ่มจากการบริหารจัดการในสิ่งที่มี เพราะก่อนหน้าช่วงโควิด สินค้าของจูน จะเป็นการทำงานเป็นชิ้นขายเป็นหลัก วัตถุดิบที่เตรียมไว้ในมือจึงมีเยอะเกินจำเป็น ในช่วงแรกของการระบาดโควิด สิ่งที่จูนทำคือการปรับรูปแบบสินค้า และการระบายวัตถุดิบ
“โควิดระลอกแรก จูนเริ่มจากการจัดการของที่มีและจัดระเบียบ จัดสต็อก จากที่เราเคยซื้อวัตถุดิบ ซื้อของมากองไว้แบบไม่ได้จดอะไรเลย จูนก็ค่อยๆ จัด แล้วก็จัดสตูดิโอใหม่ จัดให้เป็นสัดส่วน ตรงนี้ที่วางของ ที่วางเคลือบ แบ่งประเภทต่างๆ
“เรามีสต็อกงานดินเผา ที่เป็นงานเผาบิสกิต (เผารอบแรก 800 องศา เป็นดินแห้งสีส้มยังไม่เคลือบ) พวกจานชามเยอะมาก เราคิดว่าคนอยู่บ้านกันเยอะ ก็เลยรับทำแบบผลิตตามสั่ง โดยเริ่มจากสิ่งที่ง่ายและเร็วที่สุด คือรับเขียนลาย จานชาม ป้ายเลขที่บ้าน เพื่อระบายของที่ค้างสต็อกให้ได้เงินมาก่อน”
“ต่อไปก็มาดูวัตถุดิบเรื่องดิน ช่วงโควิดเราไม่ซื้ออะไรเลย เพราะวัตถุดิบเรามีเยอะอยู่แล้ว ก็เลยทำคลาสเรียน เป็นคลาสที่น้อยกว่า 4 คน เพื่อให้เกิดการโฟกัส ซึ่งมันเข้ากับเรื่องความปลอดภัยในสถานการณ์โควิดอยู่แล้ว”
สินค้าของ Joon Studio แบ่งเป็นประเภทหลักๆ คือ งานสั่งผลิต งานชิ้นเปล่าที่ให้ลูกค้าสามารถไปเพ้นท์เอง และคลาสเรียนเซรามิค พอจูนจัดระเบียบจนเกิดระบบ ไอเดียที่จะจัดการงานประเภทต่างๆ ให้มีทั้งความแตกต่าง และเป็นศิลปะ ก็บรรเจิดขึ้น

ศิลปะแห่งความสัมพันธ์
สิ่งที่จูนเลือกทำเป็นอย่างต่อมา ในการรับมือกับสถานการณ์โรคระบาด คือการออกแบบสินค้าและบริการให้เป็นไปตามศิลปะแห่งความสัมพันธ์ ได้ประโยชน์ทั้งการสร้างกลุ่มลูกค้า ได้ประโยชน์ทั้งความปลอดภัยที่ไม่เพิ่มความเสี่ยงให้กับคนที่มาจากพื้นที่ต่างกันจนเกินไป
“พอระลอก 2 เราก็จะเห็นผลจากตรงนี้ จากที่คลาสเคยเป็น 1 วันเต็ม เราก็จัดให้ย่อยขึ้นเป็นคลาสหนึ่งชั่วโมงครึ่ง เพื่อเข้ากับความสัมพันธ์และความปลอดภัย จากรอบแรกจะมีลูกค้าเป็นคนเดียวบ้าง เพื่อนสองคนบ้าง พอโควิดรอบที่สองก็จะเริ่มเป็นกลุ่มเพื่อน 4 คน กลุ่มครอบครัว พ่อแม่ลูกสามคน เริ่มเป็นหลานชวนคุณปู่คุณย่าในครอบครัวมาด้วย พอช่วงโควิดรอบสาม เป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น เป็นแบรนด์เล็กๆ เป็นคนที่อยู่ชุมชนเดียวกัน อย่างเชฟ ร้านอาหาร เหมือนเราใช้ความสัมพันธ์มาเป็นตัวแบ่งประเภท”
Joon Studio กับโควิด-19 Joon Studio กับโควิด-19
ศิลปะที่ไม่ใช่เรื่องของศิลปินเดี่ยว
“จูนโชคดีได้นักศึกษามาฝึกงาน ก็ได้คนมาช่วยคิดเพิ่ม หลังจากนั้นเราเตรียมแผนว่าจะพัฒนาสินค้าไปอย่างไร เราโยนโจทย์ให้น้องฝึกงานคิดโปรเจค ทำเป็นสหกิจ เรามาคิดกันว่าเพราะคนต้องอยู่บ้านมากขึ้น เราก็เลยทำเป็นพวกกระถางต้นไม้ เป็นกระถางทรงตรงๆ ให้ลูกค้าซื้อเป็นชุด แล้วเอาไปนั่งเขียนลายกันเองที่บ้าน นอกจากแบบสินค้าสั่งผลิตสำหรับเขียนลาย ก็เพิ่มเข้ามาเป็นสินค้าสั่งผลิตำหรับงานปั้น เป็นจุดเชื่อมโยงให้คนได้ทำความรู้จักเซรามิคก่อน แล้วค่อยกลับมาเรียนกับเรา”
“พอหมดเด็กฝึกงานรุ่นแรก จูนได้เด็กฝึกงานรุ่นสองมา เด็กกลุ่มนี้ถนัดงานอุตสาหกรรมมากขึ้น เราก็โยนโจทย์ให้ ก็จะมีน้องที่เก่งเรื่องทำงานพิมพ์ ออกมาเป็นสินค้าสำหรับเขียนลายบนเซรามิค รอบนี้พัฒนาจากที่ปั้นที่สตูดิโอของเรา ก็จะเป็นแบบปั้นกลับบ้าน จูนก็ได้น้องที่เคยฝึกงานกับเรามารวมกันเป็นทีมออนไลน์ ในอนาคตก็จะมีเวิร์คชอปเซรามิคออนไลน์จากที่บ้านได้เลย”

ในจุดวิกฤติการลดภาระไม่ได้หมายความว่าเราเห็นแก่ตัว
การเปลี่ยนแปลงของ Joon Studio เริ่มตั้งแต่ปรับรูปแบบจากคาเฟ่ที่มีพื้นที่ศิลปะ กลายมาเป็นงานสตูดิโอศิลปะเต็มตัว แล้วหาผู้เช่าที่ต้องการทำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม มาเปิดคาเฟ่แทน การตัดสินใจในครั้งนี้ ทำให้จูนได้ทั้งรายได้ประจำ และได้คาเฟ่สำหรับลูกค้าของสูตดิโอไปพร้อมกัน
“สำหรับช่วงโควิด ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ สิ่งแรกเลย เราต้องดูตัวเองก่อนว่าเราไหวไหม ถ้าไม่ไหวต้องตัด ถ้าเรามีภาระหนี้ มีลูกน้องเยอะ แล้วเราต้องมานั่งเครียด การที่เราทำให้ตัวเองเบาขึ้น มันไม่ได้เห็นแก่ตัว แต่มันทำให้เรามีเวลาที่จะคิดวางแผนมากขึ้น เพราะจริงๆ แล้วจูนคิดว่า โควิดมันเหมือนตอนที่แม่จูนเสีย พอทุกอย่างมันเบา มันก็ดูสวยงามหมด”
ทุกวันนี้ Joon Studio ใช้วิธีการรับนักศึกษาฝึกงานมาช่วยเป็นกำลังหลัก และที่เด่นชัดไปมากกว่านั้น หลังจากที่นักศึกษาเหล่านี้เรียนจบ พวกเขาก็ยังกลับมาเป็นกำลังให้ Joon Studio ไม่ว่าจะเป็นในสถานะพันธมิตรทางธุรกิจ หรือแม้แต่ฟรีแลนซ์ที่ยังคอยเกื้อหนุนกันอยู่ตลอดเวลา
ส่วนแม่บ้าน แม่ครัวที่ยังคงทำงานประจำกับจูน ก็ใช้เวลาว่างปลูกผัก ปลูกต้นไม้ อย่างมีความสุข พร้อมกับสามารถกลับมาเป็นอีกหนึ่งช่องทางรายได้ของ Joon Studio อีกด้วย
“หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในทุกส่วนของ Joon Studio เราสื่อสารกับทุกคนในแบรนด์ของเรา เราประเมินตนว่าเกินกำลังไหม เป็นเหตุเป็นผลไหม เรารู้มูลค่าของแต่ละสิ่งมันเท่าไร อะไรต้องเก็บ อะไรต้องปล่อย”
“จูนอยากให้ทุกคนมีตัวตนของตัวเอง เขาถึงมีใจทำให้เราเต็มที่ เราไม่ใช่ศิลปิน ถ้าเป็นศิลปินทุกคนต้องอยู่ในกรอบของเรา เมื่อคนมาที่จูน สตูดิโอ ทุกคนทั้งลูกน้อง ลูกค้า จะได้ระเบิดมาจากข้างใน”
ศิลปะบนความสุขของจูน
“จูนรู้สึกว่าโควิดทำให้ตัวเองมีเวลาที่พอ จูนได้ทำในสิ่งที่อยากทำ มีเวลาให้กับตัวเอง ได้เห็นสตู ได้เห็นพื้นที่การทำงานของตัวเองดูมีชีวิตขีวา ลูกค้ามาแล้วมีความสุข ได้เห็นต้นไม้ที่เราดูแล ได้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ดี เพราะเราเคยมีแม่ที่ป่วย ตัวเราเองก็ป่วย แค่นี้นี่คือความสุขของจูน”
:::
พอแล้วดี The Creator : อรวรรณ แสงแก้ว (จูน)
ธุรกิจ : Joon Studio