Little Farm In Big Forest ไร่เล็กในป่าใหญ่ กับโควิด-19

เจ๊ะเปอะแกกึ๊บือเตอะเปอะแกกึ๊ถ้ามีเงินเต็มกระบุงแต่ข้าวไม่เต็มกระบุงเราจะอยู่ไม่ได้เพราะถังใส่ข้าวมีแต่เงิน…”  บทธาคำสอนที่ตกทอดกันจากรุ่นสู่รุ่นของคนปกาเกอญอ ทำให้เราเห็นถึงความใส่ใจ ต่อความมั่นคงทางอาหาร ที่มีค่ามากกว่ามูลค่าของตัวเงิน

คำสอนนี้เองเป็นหัวใจสำคัญ ที่ทำให้ Little Farm In Big Forest ไร่เล็กในป่าใหญ่ แบรนด์ที่ส่งต่อจิตวิญญาณของปกาเกอญอให้กับคนเมือง ผ่านวัตถุดิบจากชุมชน โดยยึดถือการสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน และฟื้นคืนวิถีชีวิตชุมชน หยัดยืนรอดพ้นวิกฤติโควิดไปได้อย่างไร้ข้อกังวล

“การเงินเราอยู่ได้ เพราะต้นทุนทุกอย่างอยู่ในชุมชน ชุมชนมีอะไร เราขายสิ่งนั้น ตามฤดูกาล” จัมป์ณัฐดนัยตระการศุภกรเล่าให้เราฟังถึงรูปแบบการทำงานร่วมกับชุมชนปกาเกอญอ

การเป็นลูกครึ่งปกาเกอญอ(กะเหรี่ยง) ที่โตมาโดยมีพ่อเป็นด็อกเตอร์ปกาเกอญอ ซึ่งทำงานในสมาคมปกาเกอญอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน(PASD) ทำให้ทุกขวบปี การทำงานร่วมกับชุมชนค่อยๆ หยั่งรากลึกเข้าไปในหัวใจ จนส่งผ่านมาสู่แบรนด์ที่มีชุมชนเป็นศูนย์กลาง

ไร่เล็กสู่ป่าใหญ่

ระบบการทำงานของ Little Farm In Big Forest แบบ ไร่เล็กในป่าใหญ่ เริ่มที่กระบวนการพัฒนารากฐานของชุมชน ฟื้นคืนวิถีชีวิต และสร้างระบบหมุนเวียนที่ทำให้คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล

“เราอยากเชื่อมหมู่บ้านปกาเกอญอ เชื่อมให้แต่ละชุมชนทำงานด้วยกัน แต่ละคนจะได้รู้บริบทบ้านตัวเอง โดยที่เราเข้าไปช่วยเรื่องการสื่อสาร แล้วแชร์ออกมาผ่านผลผลิต ดังนั้นแบรนด์ของเรา จึงขอแบ่งในสิ่งที่เขาปลูก เขากินกันอยู่แล้วมาขาย ไม่ได้ตะบี้ตะบันทำผลผลิตเพื่อขาย มันเลยเกิดความสมดุลทั้งชีวิตส่วนตัว แบรนด์ และชุมชน”

อ่อเส๊อะเก๊อะเม (กินข้าวด้วยกัน)

ช่วงที่สถานการณ์โควิดระบาด ความเครียด ความวิตกกังวล ความสับสน ไม่ว่าความอะไรก็ตามที่สื่อความหมายในแง่ลบลอยอบอวลอยู่ในสังคมเต็มไปหมด สิ่งหนึ่งที่ Little Farm In Big Forest พยายามทำ คือสร้างบรรยากาศของความอบอุ่นอย่างที่ครอบครัวชุมชนปกาเกอญอมี ส่งต่อมันออกไปให้กับผู้คนในยามทุกข์

“Little Farm In Big Forest จะค่อนข้าง follow up ลูกค้าเป็นเพื่อนเป็นครอบครัว เพราะเราสร้างประสบการณ์ร่วมและสื่อสารกับคนมาตลอดอย่างยาวนาน เราจึงเจอฐานลูกค้าที่ชัดเจนและเข้าใจ ในช่วงโควิดยิ่งทำให้เรามีเวลามากที่จะสร้างสิ่งต่างๆ ร่วมกับคนในชุมชน ทั้งเรื่องจิตใจ รายได้ ความสัมพันธ์ของเรากับชุมชนแน่นแฟ้นมากขึ้น กลายเป็นความสุขอย่าง เกอญอ เกอญอ (ช้าช้า) ที่ส่งต่อไปสู่ชุมชนเมืองผ่านโปรเจค อ่อเส๊อะเก๊อะเม ที่แปลเป็นภาษาไทยว่า กินข้าวด้วยกัน”

อ่อเส๊อะเก๊อะเม (กินข้าวด้วยกัน) เป็นโปรเจคที่ชวนคนเมืองมากินข้าวด้วยกันกับชุมชนปกาเกอญอ จัมป์ไม่ใด้ชวนคนมานั่งล้อมวงทางกายภาพ แต่เป็นการล้อมวงทางความคิด ผ่านการสื่อสารทางผลผลิต อย่างเช่น รสชาติของน้ำผึ้งป่าที่สื่อสารถึงพื้นที่ป่าอันแตกต่างกัน ความเหลวหรือข้นของน้ำผึ้งที่สะท้อนสภาพอากาศในปีนั้นๆ เผือก มัน ถั่ว กาแฟ พืชผัก ผลไม้ การส่งต่อภูมิปัญญาการปลูกเก็บเกี่ยวที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้เฒ่าผู้แก่กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กลับมาอยู่บ้าน โปรเจคนี้เองกลายมาเป็นทั้งรายได้ และสร้างการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคนเมืองและคนที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างคนปกาเกอญอ

ออนไลน์สำคัญแต่ไม่ใช่ทั้งหมด

ในช่วงโควิดผู้คนมักเข้าใจว่า ต้องปรับตัว ต้องพยายามนำสินค้าเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้น ทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้คนเห็น ลงทุน ลงโฆษณา ลงแรงทำเรื่องแปลกประหลาดเพื่อให้ได้ชื่อเสียงโด่งดังในชั่วข้ามคืน แต่ไม่ใช่กับ Little Farm In Big Forest

“เพราะว่าเราไม่ได้ทำแบรนด์เพื่อเราคนเดียว แต่เหมือนแบรนด์เป็นตัวแทนของชุมชน เราก็เลยอยากเจอลูกค้า เราออกบูทเพื่อให้คนได้เข้ามาหา มาเจอเรา เราอยากเป็นเพื่อน เป็นญาติกับลูกค้า เราสื่อสารกับลูกค้าอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน (แบบที่เป็นนิสัยของคนปกาเกอญอ) ทุกอย่างตั้งแต่การตั้งราคา จนถึงการสื่อสาร มันเกิดจากการพูดคุยร่วมกันกับพ่อหลวงและชาวบ้าน ซึ่งถ้าไม่ออกหน้าร้านไปเจอกับคนเมือง ก็จะไม่สามารถสื่อสารได้แบบเปิดอกคุยกัน”

จักรวาลในสวนหลังบ้าน

“ช่วงโควิดทุกคนก็หาของ และเปิดใจบที่จะเรียนรู้อาหารที่ดีต่อสุขภาพร่างกายมากขึ้น โควิดรอบแรก เราพยายามเชื่อมชุมชนปกาเกอญอกันเองมากขึ้น โควิดรอบสอง เราพยายามสร้างเรื่องราวของชุมชนที่เราทำงานด้วยให้คนรู้จัก พอมาโควิดรอบสาม เราชวนลูกค้าทั้งเก่าและใหม่ มาปลูกพืชผักหลังจากกินเหลือ”

คนปกาเกอญอขึ้นชื่อเรื่องการจัดการความมั่นคงทางอาหารของตัวเอง โดยอาศัยตั้งแต่การสังเกตการเคลื่อนที่ของกลุ่มดาวบนท้องฟ้า ลางบอกเหตุและสิ่งบ่งชี้ทางธรรมชาติ จนไปถึงความอุดมสมบูรณ์ในผืนดินและผืนป่าผ่านการทำไร่หมุนเวียน จนมีคำกล่าวว่า หากจะเรียนรู้ภูมิปัญญาในหมู่บ้าน ต้องเรียนรู้ “จักรวาลวิทยาปกาเกอญอ” Little Farm In Big Forest พยายามถอดรากและย่อส่วนภูมิปัญญานี้ มาชวนคิด ชวนสร้างจักรวาลอาหารในหลังบ้านของคนเมือง

“ทุกวันนี้เรามีมันมือเสือขึ้นอยู่กลางกรุงเทพ มีพันธุ์ขิงป่า เสาวรส กระชาย แบบที่ปลูกในไร่หมุนเวียนอยู่ในสวนหลังบ้าน เราเคลื่อนเอาไร่หมุนเวียนไปอยู่กลางเมืองให้เป็นจักรวาลอาหารส่วนตัวของทุกคน ด้วยการแอบใส่ความสนุกลงไปในกล่องผลิตภัณฑ์ อย่างขิง หรือมัน เราจะเก็บแบบที่มีดินติดไปด้วย พอทิ้งไว้แบบนั้นวัตถุดิบก็พร้อมงอก พร้อมลงดินปลูกไปได้เลยหากกินเหลือ ผลตอบรับจากลูกค้าเป็นไปในแง่ดี ชุมชนได้รู้ก็ภูมิใจ เกิดความเข้าใจทั้งกับในชุมชน และลูกค้า”

เพราะรู้จักรากเหง้าอันยืนยง

“มันฝรั่ง > ขิง,กระชาย > ข้าวดอย > เสาวรส > อโวคาโด ไล่เรียงผลผลิตไปตามฤดูกาลในแต่ละปี พอเรารู้จักผลผลิต เราก็สามารถคิดต่อได้ เราทำแล้วมีความสุข ชุมชนสามารถไปต่อได้ คนรุ่นใหม่กลับมาดูแลชุมชน มีผลผลิตกิน แบ่งขาย สารเคมีก็เริ่มหายไป อย่างที่ขุนแปะ ชาวบ้านทุกคนติดตามการเติบโตของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ 7 ครอบครัว เราสร้างพื้นที่ไร่หมุนเวียนขนาดเล็ก สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ดั้งเดิมเอาไว้ทั้งๆ ที่ขุนแปะไม่มีไร่หมุนเวียน”

รากเหง้าทางวัฒนธรรมภูมิปัญญาที่หยั่งลึกสู่ลูกหลานของชาวปกาเกอญอ กลายมาเป็นรากฐานอันแข็งแกร่งที่เราได้เห็นแล้วจากแบรนด์ Little Farm In Big Forest สิ่งเหล่านี้เป็นภูมิคุ้มกันทางสายเลือด ที่คนรุ่นก่อนได้สร้างไว้ให้กับคนรุ่นหลัง ที่ไม่ว่าอุปสรรคปัญหาใดๆ ก็ไม่สามารถทำให้สิ่งที่คนปกาเกอญอมีพังทลายลงไปได้

“เราไม่มีแรงไปทำทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เรามีหน้าที่เป็นสารตั้งต้น จุดไอเดียให้คนในชุมชน โควิดมันไม่ได้แค่ให้เราไปข้างหน้า แต่มันทำให้เรากลับไปดูรากของตัวเอง แล้วค่อยกลับมาเดินอย่างช้าๆ แต่มีทิศทาง

ไม่ใช่นักสร้างความร่ำรวยแต่เป็นนักชวนคิดที่คอยสร้างสรรค์ความสุข

“ตัวโปรเจคอ่อเส๊อะเก๊อะเม ยิ่งมีโควิด เรายิ่งได้โฟกัสและหาคนเพิ่ม จากสามหมู่บ้าน เป็นห้าหมู่บ้าน เป็นเจ็ดหมู่บ้านไม่ใช่แค่เรื่องของวัตถุดิบ แต่เป็นเรื่ององค์ความรู้วิถีชีวิต”

Little Farm In Big Forest กลายมาเป็นฟันเฟืองสำคัญ ที่ทำให้กิจกรรมต่างๆ ในหมู่บ้านดำเนินไป แม่บ้านและเยาวชนคนรุ่นใหม่ในชุมชน ได้ฝึกคิด ฝึกนำเสนอผลผลิตที่มีอยู่ ฝึกสื่อสารว่าเล่าอย่างไร ให้สามารถขายของได้ด้วยและวิถีชีวิตดำรงอยู่ด้วย

“ความสุขคือการที่แบรนด์เรา ทำให้คนในชุมชนรู้สึกว่า สามารถใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายแบบที่ควรจะเป็นได้ โควิดยิ่งทำให้เรามีเวลามากขึ้น ที่จะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ร่วมกับคนในชุมชน ทั้งเรื่องจิตใจ รายได้ ความสัมพันธ์ของเรากับชุมชนแน่นแฟ้นมากขึ้น กลายเป็นความสุขที่เราไม่ต้องไปเร่ง ไม่ต้องหายอดขาย นอกจากอยู่รอดช่วงนี้ ต้องคิดต่อว่า จะทำอย่างไรให้แบรนด์อยู่ไปอีก 10 ปี 20 ปี มันเป็นโมเดลให้คนในชุมชนเริ่มคิดพัฒนาต่อ”

:::

พอแล้วดี The Creator : ณัฐดนัย ตระการศุภกร (จัมป์)

ธุรกิจ : Little Farm In Big Forest ไร่เล็กในป่าใหญ่