Little Sunshine Café กับแรงดึงดูดเดียวกันที่ช่วยให้พ้นผ่านวิกฤติโควิด-19
ว่ากันว่ากฎของแรงดึงดูดจะพาเราให้มาเจอกับคนที่เหมือนๆ กับเรา ในทุกๆ ความคิด ทุกๆ การแสดงออก คนประเภทเดียวกัน เหมือนๆ กัน จะถูกแรงดึงดูดนี้เชื่อมต่อเข้าหากันในที่สุด แรงดึงดูดนี้เอง ที่ทำให้ Little Sunshine Café ร้านอาหารของนักกำหนดอาหารอย่าง ป๋วย อัจจิมา ศรีปรัชญาอนันต์ รับมือกับวิกฤติโควิดได้อย่างอิ่มเอม

“Passion ของเราก็คือการทำอาหาร ส่วนคนที่ตามเราก็จะเป็นคนที่คล้ายๆ กัน เป็นคนที่ชอบทำอาหารและไม่ใช่อาหารทั่วไป แต่เป็นอาหารโฮมเมดที่ง่าย ดูอร่อย น่าทำตาม และก็น่าแปลกใจที่มีคนทำตามสูตรที่เรานำเสนอไปในคลิปวิดีโอ เพราะเขามีความชื่นชอบแบบเดียวกับเรา มี Passion แบบเดียวกับเรา ชอบเกษตรอินทรีย์เหมือนกัน ชอบใช้ของดีเหมือนกัน และรู้สึกว่าอาหารที่ทำมันดีกับเขาจริงๆ ทำได้ง่ายที่บ้าน เน้นการรักษาสมดุล”
>>> Passion และความชอบแบบเดียวกัน
ในวันธรรมดาปกติ เราจะได้เห็นหนุ่มสาวออฟฟิศหมุนเวียนกันมาทานอาหาร ทานของดี อร่อย ดีต่อสุขภาพ ในบรรยากาศอบอุ่น นี่คือสิ่งที่ผู้คนได้รับจากการมานั่งทานที่ Little Sunshine Café แต่ในวิกฤติโควิดที่ร้านอาหารไม่สามารถนั่งทานได้อีกต่อไป กลับกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ Little Sunshine Café เชื่อมโยงกับกลุ่มคนที่เล็กลง แต่ชัดเจนขึ้นอย่างมหาศาล
“ได้ข่าวว่ามีโควิด เริ่มจากที่เราเห็นจากประเทศอื่นก่อน พอได้ยินว่าล็อกดาวน์ แค่คิดว่าจะทำอย่างไรให้อยู่รอด เราเลยคิดว่าจะต้องแก้ระบบของร้านใหม่ เริ่มตั้งแต่การทำสื่อประชาสัมพันธ์การเขียนโพสต์จะปรับอย่างไร ต้องเปลี่ยนเมนูให้เป็นเมนูใหม่และให้เข้ากับสถานการณ์ ทั้งปรับจากเมนูเดิมที่เป็นเมนูดีต่อสุขภาพเป็นเมนูพิเศษประจำวัน เมนูเพิ่มภูมิคุ้มกัน เป็นเมนูอาหารที่พิสูจน์แล้วว่าดีต่อสุขภาพเน้นไปที่การป้องกันโรคด้วยการกินแบบสมดุล”

“คนที่มาส่วนใหญ่มาในทางที่เราถนัด เป็นคนที่ใส่ใจสุขภาพ สนใจเรื่องวัตถุดิบในระดับหนึ่ง ไม่เกี่ยวว่าราคาเท่าไร ถ้าคุณภาพได้ วัตถุดิบได้ และเขารู้สึกว่าเขาเชื่อใจเราได้ในฐานะที่เป็นร้านโฮมเมดและร้านของนักกำหนดอาหาร เขาก็เป็นแฟนคลับที่เหนียวแน่นของที่ร้าน เขาไม่ได้สนใจแค่ว่าเราขายอะไร แต่เขาสนใจแนวคิดของเราแง่มุมหลายๆ อย่างที่เรานำเสนอ”
“หลังๆ เริ่มมีคนมาปรึกษาว่า อยากกินแบบนี้ต้องทำอย่างไร เขามีความเชื่อในตัวเรา เชื่อในแบรนด์เรามาก กลายเป็นว่าเพราะโควิด ทำให้ร้านเราเป็นลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เป็นกลุ่มคนที่ทานอาหารเพื่อสุขภาพ ชอบวิถีอินทรีย์และต้องการสนับสนุนเกษตรกร คนที่เข้ามาไม่ใช่แค่เข้ามาทานมื้อกลางวันแล้วกลับไปทำงานอย่างเดิม ความดีงามของการเป็นนักกำหนดอาหารคือเราสามารถปรับเปลี่ยนเมนูไปได้เรื่อยๆ กับสถานการณ์กับลูกค้า สิ่งที่ลูกค้าต้องการและสิ่งที่เรามี”
>>> แก่นของความสมดุล
ในยุคที่อาหารถูกปรับเปลี่ยนไปตามกระแสนิยม หลายร้านเลือกปรับตัวตามสิ่งที่เชื่อว่าเป็นความต้องการของลูกค้าในช่วงเวลานั้นๆ แต่สำหรับ Little Sunshine Café แก่นใหญ่ใจความของการกินอาหารเพื่อสุขภาพ ป๋วยบอกกับเราว่า ทั้งหมดทั้งมวลอยู่ที่… ความสมดุล

“อย่างตอนนี้เราพยายามทำเมนูให้มีความหลากหลายมากขึ้น ในแง่มุมของรสชาติและโภชนาการ คือหลักการของเราไม่ใช่ว่าตอนนี้คนทำ Plant Base Food (อาหารที่ทำมาจากพืช) เราทำขายเถอะ ไม่ใช่ จริงๆ การคิดเมนูหลักๆ ของเราคือการรักษาสมดุล ทั้งสมดุลในจาน สมดุลสุขภาพ สมดุลสารอาหาร เน้นเรื่องความสมดุลและใช้วัตถุดิบที่ดีเพื่อการป้องกันโรค มากกว่าที่จะโฟกัสเรื่อง Plant base หรือ Keto (Ketogenic Diet การทานคาร์โบไฮเดรตให้น้อยที่สุด แล้วเพิ่มการทานไขมันและโปรตีน)”

“ในช่วงโควิด เรารู้สึกว่าการกินที่ดีพอและพอดี คือการกินที่ไม่ได้กินตามที่คนแชร์กันบนโลกออนไลน์ เพราะการกินแบบนั้นมันไม่ได้คำนึงถึงความเหมาะสมต่อร่างกายตัวเอง ช่วงนี้เป็นช่วงที่ทุกคนมีความอ่อนไหวต่อข้อมูล เพราะความกลัว แต่จริงๆ ช่วงนี้มันคือการโฟกัสไปที่การรักษาสมดุลของร่างกายและจิตใจเรา มันคือช่วงที่เราจะสามารถเชื่อมต่อลูกค้ากับเกษตรกรของเราได้ เพราะฉะนั้นช่วงนี้เราจะไม่ขายอาหารและขนมกับลูกค้าเลย แต่เราจะให้สูตรอาหาร ขนม ไปทำเองที่บ้าน เพราะเรารู้สึกว่าช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่คนจะได้เรียนรู้ที่จะดูแลตัวเอง”
>>> การเชื่อมโยงของแรงขับเดียวกัน
สิ่งที่ป๋วยลงมือทำกับ Little Sunshine Café นอกเหนือจากความใส่ใจในการปรุงอาหาร คัดเลือกวัตถุดิบ ตกแต่งหน้าตาให้น่าทาน คือการเชื่อมโยง Passion ของทุกคนเข้าหากัน ทั้งเกษตรกรที่สร้างวัตถุดิบ ร้านอาหารที่คิดเหมือนๆ กัน รวมไปถึงลูกค้าที่ชอบเรื่องเดียวกัน ซึ่งความที่เป็นคนคอเดียวกัน เข้าใจกัน ทำให้ร้านเล็กๆ อย่าง Little Sunshine Café ผ่านช่วงเวลาวิกฤติโควิดมาได้อย่างอิ่มเอม

“การเชื่อมโยงของเรา เราเชื่อมาตลอดว่า อาหารที่ดีต้องมาจากแหล่งวัตถุดิบที่ดี แล้วถ้าเราใช้ของดีลูกค้าก็จะรับรู้ได้และก็จะกลับไปที่เกษตรกรที่เขาส่งของให้เรา เราเน้นทำคอนเทนท์ให้ตรงจุดกับคนที่ตามเรามากกว่า คนอยากรู้ว่าการทำอาหารให้ดีและอร่อย ทำอย่างไร คนชอบฟังเรื่องราวที่เกี่ยวกับตัวแต่ละคน เราพยายาม share passion คนกินอยากเชื่อมโยงกับ passion เรา เป็นคนที่มี passion เรื่อง Home Cooking, Cook book พอความเป็น Niche เจอกับ Niche เราก็สามารถ Connect Passion เข้าหากันได้ เขารู้สึกว่าเราทำของดี ใช้ของดี ดูน่าไว้ใจ เขาก็เชื่อใจเรา”
“ในวงจรนี้พอเราสนับสนุนกันไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรทุกคนก็จะยินดีที่จะช่วยเหลือกันไปเรื่อยๆ ถึง ณ วันหนึ่งที่มีปัญหา เราก็รู้ว่าทุกคนก็จะช่วยเหลือกันหมด หน้าที่ของเราก็คือการช่วยเชื่อมต่อระหว่างลูกค้าของเรากับเกษตรกร มันเป็นทอดๆ ของการมีสุขภาพดี เกษตรกรก็มีกำลังใจที่จะทำของดี ของอินทรีย์มากขึ้น”
>>> แรงดึงดูดที่ไม่ใช่เหตุบังเอิญ
อีกหนึ่งเรื่องราวของการเชื่อมโยงความหลงใหลเดียวกันไปด้วยกัน คือการได้พบกันระหว่าง ป๋วย และ เจ๊ก้อย (ร้านทานคลีนลำปาง) ซึ่งทั้งสองคนได้พบกันครั้งแรกที่ ไร่รื่นรมย์ จังหวัดเชียงราย (อ่านเรื่องของ เปิล และไร่รื่นรมย์ได้ที่ http://backup.porlaewdee.com/ไร่รื่นรมย์-กับโควิด-19/ ) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นความหลงใหลส่วนตัว หรือบริบทต่างๆ ทำให้ทั้งสองคนกลายมาเป็นสายสัมพันธ์ผ่านแบรนด์ที่เราจะเห็น Little Sunshine Café และ TanClean ลำปาง ออกแบบเมนูร่วมกันเสมอๆ ผ่านพื้นที่สื่อส่วนตัวของทั้งสองแบรนด์ แม้จะอยู่ไกลกันก็ตาม

“เราเจอเจ๊ก้อยที่ไร่รื่นรมย์ ผ่านเชฟโจ้ แกเป็นคนที่มีความเป็นฝรั่งในตัว และพยายามทำเรื่องความยั่งยืนผ่านอาหาร ส่วนใหญ่เรากับพี่ก้อยชอบคิดสูตรด้วยกัน สร้างแรงบันดาลใจให้กันและกัน ให้ไม่น่าเบื่อในการทำอาหารคนเดียว เวลาที่เรามีปัญหาก็ระบายกับเขาได้”
>>> ธุรกิจแบบสายสัมพันธ์
ถ้ามองอย่างผิวเผินจากภายนอกผ่านสื่อออนไลน์ ผ่านรูปภาพอาหารที่บรรจงจัดแต่งงดงาม กับบรรยากาศที่ตกแต่งอย่างอบอุ่นของร้าน เราอาจคิดว่าสิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้ Little Sunshine Café โดดเด่น แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เลย
“ความรักต่อแบรนด์มันมาจากความเชื่อใจ มาจากความไว้ใจ ความมั่นใจในแบรนด์ของเรา เรารู้สึกว่าร้านสวยๆ ใครก็ทำได้ แต่ว่าร้านที่มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับลูกค้ามันมีน้อย และมันเป็นสังคมการทำธุรกิจที่น่ารักมากเลย ระหว่างเราที่เป็นคนทำ เกษตรกร ซัพพลายเออร์ มันเป็นวงจรที่น่ารัก”
“อย่างลูกค้าก็คิดเหมือนกันว่าเขาไปกินสิ่งนี้มา เป็นสิ่งที่ดี เขานึกถึงเราก็อยากส่งให้ เป็นการส่งต่อแบ่งปันความสุขที่มีจากอาหาร แทนที่จะเป็นแค่ลูกค้ากับคนขาย แต่ตอนนี้ความสัมพันธ์ของเรากับลูกค้าที่เป็นกลุ่มเล็กๆ ของเราก็จะกลายเป็นเพื่อน เหมือนคนที่มีความชอบเหมือนๆ กันและอยากจะแชร์สิ่งดีดีให้กัน”

“สำหรับลูกค้า เขารู้สึกว่ามันมากกว่าการทำธุรกิจ เขาไม่ได้รู้สึกว่าเรามีหน้าที่แค่ขายของกับเขา มันเป็นการทำธุรกิจที่ใช้ใจในการทำ เป็นการทำที่มากกว่าแค่หวังผลกำไร เขารู้สึกว่ามันมีส่วนผสมของความใส่ใจ ทำให้เขาเชื่อใจไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม พอเชื่อใจและไว้ใจเรา ก็อยากจะบอกต่อและรู้สึกมั่นใจที่จะบอกต่อด้วย คือเหมือนกับเป็นการสร้างมิตรภาพ มันทำให้เกิดการสร้างความเชื่อใจของลูกค้า ในฐานะที่เรามองเขาเป็นเพื่อน มองเขาเป็นพี่น้อง แปลว่าสิ่งที่เราทำให้เขาทั้งหมดไม่ว่าเราจะขายอะไรให้เขา เขามองว่ามันเป็นของที่ดีและเราก็คิดว่ามันดีต่อเขา”
>>> ความสุขที่หล่อเลี้ยงในวิกฤติ
อยากให้ใครลำบากจงแสร้งบอกให้เขาทำร้านอาหาร… ประโยคคลาสสิคนี้คงใช้ไม่ได้กับ Little Sunshine Café เพราะในทุกเสียงสำภาษณ์ ทุกคำตอบ แม้ในช่วงโควิดที่เราได้คุยกับป๋วยผ่านการพูดคุยแบบไม่เห็นหน้า เราก็อดไม่ได้ที่จะแอบเห็นรอยยิ้มของสาวนักกำหนดอาหารผู้นี้ ซ่อนอยู่ในน้ำเสียงนั้นเสมอ
“อย่างตอนนี้ที่ร้านเราปิดจากโควิด เราก็ยังนึกถึงลูกค้าเสมอ ก็ยังทำขนมเป็นของขวัญส่งให้ลูกค้า เพราะเราต้องการเชื่อมต่อกับเขาผ่านทางอาหาร กลายเป็นว่าลูกค้าก็ส่งของกินกลับมาให้เราแลกกัน เพราะลูกค้าก็เป็นกลุ่มที่ชอบของกินอะไรดีๆ และคิดว่าเราก็คงแบบชอบของอะไรดีๆ เหมือนกัน เราว่ามันเป็นอะไรที่น่ารักดี”
“คุณค่าของการมีอยู่ของ Little Sunshine Café เรารู้สึกว่า เราไม่ได้ส่งมอบแค่อาหาร เราส่งมอบความสบายใจให้ลูกค้า มันคือการที่เรารู้จักตัวเองว่าเราคืออะไร แล้วเราอยากโตประมาณไหน โดยที่อินดี้แต่ยังอยู่ได้ มันเหมือนการมีความพอประมาณแค่รู้ว่าตัวเองคืออะไร ก็ไปได้ทุกทางและพร้อมปรับตัวตลอดเวลา ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากลูกค้าและซัพพลายเออร์ หัวใจอยู่ที่ความใส่ใจที่เรามีให้กัน”

ปัจจุบันตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา Little Sunshine Café ปิดให้บริการชั่วคราวทุกช่องทาง แต่จนถึงวันที่ทุกท่านได้อ่านบทความนี้ ป๋วย ก็ยังไม่หยุดที่จะทำอาหารร่วมกับเจ๊ก้อย และยังทำขนมส่งให้ลูกค้าประจำลองทานทุกวัน (ตอนเราสัมภาษณ์ ป๋วย กำลังทำโดรายากิ ซึ่งการสัมภาษณ์ของเราทำให้โดรายากิไหม้ไป 1 ชิ้น) และยังแบ่งปัน Passion ของคนชอบทำอาหารกับคนที่มี Passion เดียวกันอยู่เสมอบน instagram ของทางร้านไม่เคยขาด
“มันเป็นอาชีพที่ทำเงินได้ด้วย และเป็นสิ่งที่เราชอบ และที่สำคัญมันทำให้เราเชื่อมต่อกับผู้คนได้เยอะ คนที่ชอบแบบเดียวกัน มันทำให้สิ่งที่เราทำยิ่งสนุกขึ้นไปอีก ถึงแม้ว่ามันจะเหนื่อยขนาดไหนแต่มันไม่ได้ทำให้เราเหนื่อยใจ เพราะเราชอบมัน เราอยู่กับมันได้ทั้งวัน และสนุกกับมัน และเราก็อยากให้ลูกค้าของเราและคนที่สัมผัสกับอาหารของเรารู้สึกได้ถึงสิ่งนี้”
หลายๆ คนอาจรู้สึกว่า การผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้นั้น ช่างเป็นเรื่องยากลำบาก และไม่มีใครปฎิเสธได้ว่ามันช่างยากลำบากมากเสียจริง แต่ถ้าในวันที่ปัญหาถาโถม เรายังมีเพื่อนที่เข้าใจ มีคนคอเดียวกันที่พร้อมจะสนับสนุนในทุกย่างก้าว ยิ่งเพื่อนคนนั้นคือลูกค้าที่จับมือเราให้ลุกขึ้นยืนได้อีกครั้งเสมอ จะมีสิ่งใดสวยงามไปกว่านี้อีกเล่า
:::
พอแล้วดี The Creator : ป๋วย – อัจจิมา ศรีปรัชญาอนันต์
ธุรกิจ : Little Sunshine Cafe