เศษวิเศษ… ที่ไม่เคยลืม … “ความพิเศษ” ของตัวเอง”
“ช่วงโควิด มีอยู่เดือนนึงที่เงินในบัญชีเราเหลือศูนย์บาท” ปิ่นเล่าให้เราฟัง “แล้วเงินบาทสุดท้าย…เอาไปทำอะไร” เราถาม…
“ในบัญชีจนบาทสุดท้าย เราจ่ายให้คนงานเราหมดเลย” ปิ่นตอบกับเราด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม
PIN Metal Art คือแบรนด์ของศิลปินที่สร้างสรรค์งานศิลปะ ขึ้นมาจากเศษเหล็กเหลือใช้ จากโรงงานผลิตอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ แปรรูปเหล็กของครอบครัว เราได้เห็นความคิดของ ปิ่น-ศรุตา เกียรติภาคภูมิ จากสื่อต่างๆ หนังโฆษณา หรือแม้แต่บทความบนหน้าหนังสือ นิตยสาร
ในสายตาของหลายๆ คน ปิ่น อาจเป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์งานจากเศษเหล็ก … มีชื่อเสียง มีรายได้ที่ดี …. จนแทบไม่น่าเชื่อว่า เหตุการณ์ไม่เหลือเงินในบัญชี จะเกิดขึ้นกับแบรนด์ PIN Metal Art
เมื่อไม่กี่เดือนก่อน ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงโควิดระบาด แน่นอนว่า PIN Metal Art ยังต้องรับมือกับภาวะฝืดเคืองทางการเงิน แต่ปิ่นกลับเล่าให้เราฟังว่า เธอเพิ่งตอบปฏิเสธงานชิ้นใหญ่ไป เพราะสิ่งที่ทำ ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เธอเป็น
“เมื่อต้นปีก่อนโควิดระลอก 3 เบียร์ยี่ห้อหนึ่งติดต่อมา เขาให้ใส่ตัวเลขไปได้เลยว่าจะเป็นเงินเท่าไร แต่ต้องทำงานออกแบบงานประติมากรรม 3 มิติ พร้อมต้องออกแบบให้สอดคล้องกับคอนเซ็ปของสินค้า ที่เป็นสีทองแดง คล้ายกับสนิมสีแดง โดยจะมีทีมมาทำวิดีโอแต่ละขั้นตอนที่ทำงานให้เขา… เราก็คิดในใจ ทำดีหรือเปล่า เพราะมีแต่ได้ ได้ทั้งงาน ได้ทั้งชื่อเสียง ได้ทุกอย่าง แต่พอมาคิดจริงๆ เราจะทำงานสื่อสารให้แบรนด์เบียร์ได้อย่างไร ในเมื่อเราไม่เข้าใจเรื่องนี้จริงๆ เพราะเราเป็นคนไม่ได้ดื่มเบียร์”
ปิ่นบอกเราว่า ที่เลือกปฏิเสธงานแบรนด์นี้ เพราะตนเองรู้ว่า ตนไม่เข้าใจทั้งเรื่องเบียร์ ทั้งเรื่องอารมณ์ความรู้สึก เพราะตนเองเป็นคนไม่ดื่มเบียร์ และที่สำคัญ ไม่ใช่ภาพลักษณ์ของแบรนด์ PIN Metal Art
เราไม่แปลกใจ กับการปฏิเสธของปิ่น แต่ที่เราแปลกใจเป็นเพราะ เธอปฏิเสธรายได้ ในช่วงวิกฤติการเงิน…
เงินบาทสุดท้ายใต้เศษกระปุก
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมีนาคมปี 63 ปิ่นเล่าให้เราฟังว่า เป็นช่วงที่ไม่มีงานเลย ต้องเอาเงินเก็บมาใช้ เพื่อช่วยทั้งธุรกิจของครอบครัว และธุรกิจของตัวเอง จนบางเดือน เหลือเงินในบัญชีศูนย์บาท ที่ผ่านมาทุบกระปุกไป 2 รอบและเงินบาทสุดท้าย ก็คือเงินที่จ่ายให้กับคนงาน…
“เรามองไปที่คนงาน รู้สึกว่าแล้วจะเอาไงต่อดี ไม่ใช่แค่โรงงานเรา มันคือคนงานในโรงงานป๊าเราด้วย”
บ้านของปิ่นจะแบ่งโซนโรงงานออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเรียกว่า “โรงงานป๊า” ส่วนอีกส่วนหนึ่งเรียกว่า “โรงงานปิ่น” คนงานฝั่งโรงงานป๊า จะรู้ดีว่าเศษเหลือชิ้นไหน ที่จะต้องส่งต่อไปโรงงานปิ่น เพราะเธอจะชอบไปป้วนเปี้ยนอยู่แถวส่วนผลิต แล้วเลือกชอปปิ้งวัตถุดิบจากตรงนั้นว่า ชิ้นไหน เอาไปทำงานอะไรได้
คนงานทุกคนก็รู้ดี… ว่าจะเก็บอะไรไว้ให้ปิ่นทำอะไร นั่นคือการทำงานที่เกินกว่าคำว่าลูกน้องและเจ้านาย มันกลายเป็นครอบครัว เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นญาติสนิทที่รู้ใจกันไปแล้ว
“ล่าสุดภรรยาของคนงานที่เป็นคนลาวคลอดลูก แล้วเธอก็เขียนภาษาไทยยังไม่ได้มาก เราก็เป็นคนจัดการเอกสารให้ ทำทุกอย่างเหมือนเป็นญาติเขา จนพอเด็กคลอดออกมา คนงานเราที่เป็นพ่อ วิดีโอคอลคุยกับลูกชายคนโตที่อยู่เมืองลาว ให้ลูกได้เห็นหน้าน้อง ภาพนั้นเป็นภาพประทับใจที่เราเห็นแล้วรู้สึกอบอุ่น”
โควิดในช่วงแรกๆ ทำให้งานของปิ่นต้องหยุดชะงักลง แต่ก็เป็นธรรมดาของคนที่เคยทำงาน พอไม่มีงาน คนงานเกิดความ “เซ็ง” บางวันถึงขั้นโทรมาตามตอนเช้า ว่าเมื่อไหร่น้องปิ่นจะเข้ามาโรงงาน ปิ่นจึงคิดโปรเจคหนึ่งขึ้นมา เพื่อ “แก้เซ็ง” ให้กับคนงาน
วิกฤติให้โอกาสสำรวจตน
“ตอนเด็กๆ ไม่ชอบโรงงาน (บ้านของปิ่น) ไม่สนุก น่าเบื่อ เราอยากหาความสุขในบ้าน เราเดินไปเห็นชิ้นส่วนเล็กๆ เอามาวางเป็นตุ๊กตา มันเจอความสนุก เราก็เดินเอาไปหาคนงาน ให้เชื่อมตรงนี้ให้หน่อย พอออกมาเป็นตุ๊กตา ก็เอาไปให้ป๊าดู ป๊ายิ้ม ก็เริ่มสนุกกับสิ่งที่เราทำ”
เหตุการณ์ในครั้งนั้น ย้อนกลับมาย้ำเตือนให้ปิ่น ได้เห็นตัวเองอย่างแจ่มชัดอีกครั้ง เมื่อวิกฤติเกิด คนงานไม่มีงานทำ แต่ไม่อยากปลดคนงานที่เป็นเสมือนครอบครัว ปิ่นจึงเริ่มสร้างแรงบันดาลใจง่ายๆ ให้กับคนงาน ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นกระจกสะท้อนให้ตัวปิ่นเอง ได้พบกับสิ่งที่ทำให้เด็กหญิงปิ่น ได้สนุกเหมือนครั้งวัยเด็กอีกครั้งหนึ่ง
“พอเข้าสู่ช่วงไม่มีรายได้ ลูกค้าให้ออกแบบงานไว้แล้วหายไป บางคนให้หยุดออกแบบ แต่ช่างที่เป็นคนงานของเราเขาหยุดไม่ได้ เราเลยให้เขาลองทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ เป็นงานอิสระต่างจากงานที่เราเคยทำ ช่วงโควิดอาจทำให้เราไม่มีงาน แต่อย่างน้อยทำให้เราได้กลับมามองเห็นสิ่งที่เรามี กับเวลาที่เราจะไม่เสียไปโดยเลื่อนลอย กลับมาสู่การรู้จักตนประมาณตน”
ช่วงโควิดช่วยให้ทั้งเจ้านายและลูกน้อง มีเวลาได้พูดคุยกัน มองเห็นทัศนคติและความคิดกันมากขึ้น เริ่มจากตัวปิ่นเองที่ต้องการความเบิกบานในใจ ต่อการเผชิญสภาวะหม่นมืดของเศรษฐกิจ ปิ่นต้องการส่งต่อความเบิกบานนี้ไปให้กับพนักงานช่างเชื่อมที่ทำงานอยู่ด้วยกัน
จากที่เคยทำงานตามแบบ ไม่เคยได้ลองทำงานสร้างสรรค์ที่ออกมาจากตัวเอง วิกฤตนี้จึงเป็นโอกาสให้ได้ ฝึกฝน ริเริ่ม สร้างสรรค์ให้ทำงานเชื่อมที่มาจากใจของช่างเอง จากเศษเล็กๆน้อยๆ ก่อร่าง สร้างรูป กลายมาเป็นชิ้นงานที่มีแรงบันดาลใจ มาจากความทรงจำ
“มีพี่คนหนึ่ง ลองเชื่อมเหล็กเป็นหุ่นยนต์ เพราะตั้งแต่เด็กก็ไม่เคยมีหุ่นยนต์ของตัวเอง คนงานก็ได้รู้ว่า นอกจากงานตามแบบที่เราให้ทำ ตัวเขาเองก็ทำงานแบบนี้ได้ ทำให้เรานึกขึ้นได้ว่า เราทอดทิ้งของเล็ก หันมาจับแต่ของใหญ่ จนมีงานหนึ่งที่มีโอกาสทำงานเหล็กแขวนกระถางต้นไม้ ทำให้นึกขึ้นมาว่า ของชิ้นเล็กๆ คือสิ่งที่สร้างตัวเรามา”

นานวันเข้าโควิด ทำให้ทุกคนในสังคมเข้าสู่ช่วงที่ต้องอยู่บ้าน หลายคนต้อง work from home หลายคนโหยหาธรรมชาติ ทุกคนต้องการมีกิจกรรม จากกระแสการปลูกต้นไม้มาแรงมากขึ้น จากเหล่าดาราและคนดังในโลกออนไลน์ ปลูกต้นไม้ ถ่ายภาพกับต้นไม้สวยๆ ในบ้าน ทำให้ปิ่นฉุกคิดขึ้นได้ว่า ยังไม่เคยทำของขนาดเล็กที่เข้าไปอยู่ในบ้านคนทุกคนง่ายขึ้น

PIN แบรนด์ที่มาจากเศษเหล็กเล็กๆ
“ก่อนที่จะมาทำงานชิ้นใหญ่ อย่างพวกงานในโรงแรม งานในห้างสรรพสินค้า เราเคยทำงานเหล็กชิ้นเล็กๆ มาก่อน พอมาโควิดรอบนี้ ทำให้เรารู้จักตัวเราเองว่า เราทอดทิ้งของเล็ก หันมาจับแต่ของใหญ่ บางทีเราลืมไปว่า ของเล็กๆ คือสิ่งที่สร้างตัวเราขึ้นมา”
วิกฤติครั้งนี้เองทำให้ปิ่นมองเห็นโอกาสและได้เชื่อมโยงการ “มีเหตุมีผล” ในการทำธุรกิจให้ตรงกับกระแสปัจจุบัน เธอจึงทำงานแขวนประดับห้อยกับต้นไม้ที่ทำจากเศษเหล็กราคาไม่แพงมาก ทำให้ทุกๆ คนจับต้องได้ง่ายมากขึ้น
พอหันกลับมาทำงานศิลปะชิ้นเล็กลง กลับทำให้ปิ่นได้กลุ่มลูกค้าใหม่อีกกลุ่มหนึ่ง เป็นคนที่ชื่นชอบ และติดตามผลงานปิ่นมาตลอด แต่ไม่คิดว่าจะเป็นเจ้าของงานของปิ่นได้ ในงานชิ้นเล็กนี่เอง เหมือนเป็นโอกาสใหม่ๆ ด้วยขนาดชิ้นงานที่เล็กลง พวกเขาดีใจมากที่ปิ่นผลิตชิ้นงานชิ้นเล็กๆ ได้สนับสนุนผลงานของปิ่นเสียที
“วิกฤติโควิดทำให้เราได้มองเห็นช่องทางและโอกาสที่จะพัฒนาสินค้า กับลูกค้ากลุ่มใหม่ที่เคยมองข้าม การมีเหตุมีผลครั้งนี้ดำเนินไปพร้อมกับการสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” ของธุรกิจ คือการสร้างทางเลือกของสินค้าที่หลากหลายมากกว่าที่จะทำสินค้าแบบเดียว ในกลุ่มตลาดเดียว
.
อีกส่วนที่สำคัญ คือการเตรียมตนและทีมให้มีความพร้อม พร้อมที่จะปรับตัว ปรับแผน และขยับเพิ่มลดตามสถานการณ์ ในแบบที่ไม่ทิ้งความพิเศษของตัวเราเอง”

เพราะไม่เคยทิ้งความเป็นตัวเอง
ปิ่นเล่าให้เราฟังว่า ปกติลูกค้าจะเป็นคนติดต่องานเข้ามา เพราะชื่นชอบงาน เพราะชื่อเสียงของแบรนด์ที่ทำไว้ ก็มีบางช่วงบางตอน ที่ลูกค้าหายไป แต่เมื่อถึงจังหวะที่พอดี ผู้คนกล้าที่จะจับจ่ายใช้สอย ลูกค้าก็กลับมา…
“ปกติเราคอยติดต่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้ามาโดยตลอด บางงานที่เขามีเป็นประจำทุกปี เขาก็จะนึกถึงเรา อย่างปีล่าสุดได้งานของ Wonder Fruit ที่เคยทำเมื่อหลายปีที่แล้ว ปีนี้ก็ได้กลับมาทำอีก เพราะเข้ากับคอนเซ็ปต์งานและเคยทำงานร่วมกันมาแล้ว”
“หรืออย่างลูกค้าบางคน ไม่พอแค่รู้จักเราผ่านสื่อ เคยมี CEO ระดับสูงของบริษัทผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง มาหาเราเอง พาหลานมานั่งคุยด้วย เขาอยากรู้จักชีวิตเรา อยากเห็นโรงงาน อยากเห็นชีวิตที่อยู่ในโรงงาน เขาอยากสนับสนุนเราจริงๆ จนได้ทำงานให้เขาหลายชิ้น ไปตกแต่งประดับที่บ้านของ CEO ท่านนี้”

“ล่าสุด มีลูกค้าเป็นคนอินเดีย อยู่เมืองไทยมา 20 ปี อยากให้เราออกแบบงานให้ เพราะสไตล์เราชัดมาก เขาก็เลยมาหาเรา เพราะชอบความยั่งยืนที่อยู่ในงานของเรา”
ปิ่นเล่าเคสตัวอย่างลูกค้าช่วงที่ต้องรับมือกับสถานการณ์โควิดให้เราฟังอย่างภูมิใจ เราก็อดรู้สึกดีไปพร้อมกับปิ่นไม่ได้ ที่ได้เห็นการผลิดอกออกผลของแบรนด์ ที่สร้างมาด้วยความตั้งใจจริง
ในท้ายที่สุด ทั้งงานที่ได้จากความสัมพันธ์ของลูกค้าเดิม งานชิ้นเล็กๆ สไตล์เดิมที่เพิ่มเข้ามาใหม่ และงานชิ้นใหญ่ที่กลับมาจากช่วงการหยุดชะงักของการจับจ่ายเงิน ทำให้ PIN Metal Art กลับมามีสภาวะการเงินที่รอดปลอดภัยอีกครั้ง

งานหยุด แต่ไม่จำเป็นต้องหยุดแบ่งปัน
ในขณะที่เกิดวิกฤติ งานหยุดชะงัก สิ่งที่ตามมาคือ ปิ่นได้มีเวลาที่ไม่ต้องทำงานมากขึ้น เธอเลือกที่จะใช้เวลาว่างไปแบ่งปันความรู้ให้กับเด็กพิเศษที่สนใจงานศิลปะบนแผ่นเหล็ก
.
“เรามีโอกาสได้ไปบรรยายเรื่องการทำงานศิลปะของเราให้กับทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ รับน้องผู้บกพร่องทางการได้ยินมาครึ่งหนึ่งของนักเรียน ปีละ ประมาณ 15 คน จนไปเจอน้องคนหนึ่ง ชื่อน้องเดี่ยว เป็นเด็กหูหนวก แต่มีความสามารถด้านงานประติมากรรมและสามารถเชื่อมเหล็กได้ เราเห็นแวว เลยมีความมุ่งหวังอยากให้น้องเดี่ยว เป็นศิลปินด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องอยู่กับเราก็ได้”
.
ปัจจุบันน้องเดี่ยว เริ่มเข้ามาพัฒนางานร่วมกับปิ่นอย่างต่อเนื่อง หนึ่งสิ่งที่เราได้จากปิ่นในบทสัมภาษณ์ ซึ่งเราคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีงามมากๆ ก็คือ งานของปิ่นทำจากเศษ เศษที่ไม่มีคนสนใจ ที่ในที่สุดก็กลายมาเป็น เศษวิเศษ …
.
แล้วกับคนหล่ะ งานของปิ่นสามารถมีคุณค่าที่ที่ทำให้ “คนพิเศษ” (เราขอใช้คำนี้แทนผู้บกพร่องทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ด้อยโอกาส / เด็กพิเศษ หรือแม้แต่ผู้มีภูมิหลังอดีตที่ไม่น่าจดจำ) ให้กลายมาผู้วิเศษ ที่สามารถเสกเหล็ก ให้มีคุณค่าได้หรือเปล่า… นั่นคือคุณค่าที่ PIN Metal Art จะดำรงอยู่เพื่อตอบแทนคือสู่สังคม
พอรู้จักตัวเองดี ก็พอดี
“เคยมีช่วงหนึ่งที่มี EGO แต่พอมาเรียนพอแล้วดีมันไม่หลงระเริง มีสติรู้ตัว ปรับตัวอย่างเข้าใจตน รู้ว่าควรจะทำอะไรและไม่ควรทำอะไร ใช้ศักยภาพที่มีอย่างเต็มที่ ดูศักยภาพตัวเอง ดูเงื่อนไข แล้วคิดว่าจะสร้างสิ่งใหม่ๆ จากสิ่งที่เรามีได้อย่างไร” นี่คือการรับมือกับโควิดในแบบฉบับของปิ่น
จากเดิมที่ปิ่นเคยเป็นเด็กหัวศิลป์ ที่หยิบเอาของเหลือใช้ในโรงงานป๊า มาทำงานศิลปะ ปัจจุบัน PIN Metal Art ของปิ่น กลายมาเป็น Supporter ให้กับโรงงานป๊า ตั้งแต่เมื่อปี 2013
“คำว่า Artist สำหรับเรา มันเป็นเหมือนลูกผสม มีความเป็นประยุกต์ศิลป์ มีตัวตนด้วย และอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ด้วย เป็น Artist ที่ทำงานเข้ากับพื้นที่”
“เราทำมาถึงจุดที่ เกินกว่าที่คิดไว้ พอถึงทุกวันนี้ มันเกินกว่าที่คิดแล้ว ไม่ใช่แค่เรื่องของธุรกิจ แต่มันเป็นเรื่องของการใช้ชีวิต ต้องทำให้คนรู้จักเราที่เป็นเรา เรามีจุดยืนที่ชัด คนที่จะมองเห็นงานเราก็ชัดตาม โควิดระลอก 3 ก็ไม่ส่งผลอะไรมาก ยังมีงานต่อเนื่อง”
:::
พอแล้วดี The Creator : ปิ่น-ศรุตา เกียรติภาคภูมิ
ธุรกิจ : PIN Metal Art
Photo Credit : คุณพัทริกา ลิปตพัลลภ