SiamRise Travel กับโควิด-19

SiamRise Travel แสงแห่งโอกาส…ในวิกฤติการท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นอีกหนึ่งประเด็นหลักที่หลายๆ ภาคส่วนพยายามผลักดันให้ความสำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายครั้งที่ชุมชนเองก็ “คาดหวัง” กับจำนวนนักท่องเที่ยว ช่องทางทำเงิน และชีวิตที่ดีขึ้นจากธุรกิจท่องเที่ยว จนกระทั่งโควิดกระโจนตัวเข้ามา มันดึงทุกคนออกจากเมฆหมอกของความคาดหวัง การพึ่งพานักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ทำให้ชีวิตอยู่รอดได้

ด้วยการทำงาน ที่มุ่งเน้นนำเสนอการท่องเที่ยวโดยชุมชนมาโดยตลอด ปีนี้ที่โควิดระบาดไปทั่วโลก SiamRise Travel (สยามร้ายทราเวล) จากที่เคยคิดว่าตัวเอง เป็นออฟฟิศท่องเที่ยว ทำการท่องเที่ยวโดยมีชุมชนเป็นสำคัญ หวังไว้ว่า SiamRise จะเป็น “แสงส่องสว่าง” นำทางให้กับชุมชนได้ทำการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ปีนี้ลำแสงนั้นริบหรี่… จนแทบดับสนิท

สยาม… “ไร้” …ทราเวล

“พอมีข่าวโควิดระบาด เรารู้ดีว่าลูกค้าหลักของเราเป็นชาวต่างชาติ คิดว่าเต็มที่ก็แค่ ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติสักสองสามเดือน แต่คนไทยอาจจะเที่ยวได้ ก็คิดว่าน่าจะปรับตัวมาทำตลาดคนไทยไปก่อนกู๊ด – ธนาวุฒิ ศุภางคะรัตน์เล่าให้เราฟัง

เชื่อว่าในช่วงแรกของการระบาดโควิด จากการฟังข่าว จากสถานการณ์ จากการประเมินเหตุการณ์โรคระบาดครั้งที่เคยเกิดมาก่อน หลายๆ คนอาจมีความคิดเหมือนกับสยามร้าย แต่เอาเข้าจริง… มันไม่ได้เรียบง่ายอย่างนั้น

“ พอปรับมาทำกลุ่มคนไทย มีทำงานกับหน่วยงานรัฐ หน่วยงานท่องเที่ยวเริ่มเอางบมาลงกับกลุ่มคนไทย เรารู้ตัวว่ายังไงสินค้าของเราก็ไม่เหมาะกับคนไทย ต่อให้ปรับให้เหมาะก็อยู่ไม่ได้ พอเหตุการณ์เริ่มหนักขึ้น แม้แต่คนไทยเองก็ยังเที่ยวไม่ได้ ช่วงมีนาคมปี 63 ทางมหาวิทยาลัยต้นสังกัดเริ่มเรียกตัวน้องๆ นักศึกษาฝึกงานกลับ คนเริ่มทำงานที่บ้าน งานเราลดลงเรื่อยๆ”

ในวันที่จัดทริปท่องเที่ยวไม่ได้ สิ่งที่สยามร้ายกลับมาครุ่นคิดคือ ทำยังไงให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่สร้างมา ยังคงเดินต่อได้ ถึงแม้จะพานักท่องเที่ยวไปยังชุมชนไม่ได้ แต่คุณค่าความตั้งใจของชุมชนยังสามารถถูกส่งต่อได้ด้วยวิธีอื่น

สยามร้าย… ลายเสือ

“เราเริ่มคุยกับทีมว่า จะลองขายสินค้าของชุมชน ร่วมพัฒนาสินค้ากับชุมชนที่เรามีเครือข่าย ตอนนั้นเริ่มทดลองทำเนยถั่ว จากถั่วลายเสือของชุมชนบ้านผาบ่อง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และเม็ดมะม่วงหิมพานต์กาหยู จากกลุ่มเกษตรอินทรีย์ เกาะพยาม จังหวัดระนอง กลายมาเป็นแบรนด์เนยถั่วในชื่อ SIM.PLE  โดยเนยถั่วนี้เอง ที่เลี้ยงสยามร้ายจนโควิดระลอกแรกดีขึ้น แต่ปัญหาที่สำคัญคือ น้องๆ ที่ออฟฟิศ ไม่อยากทำ”

ว่ากันถึงเรื่อง Passion ในการทำงาน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวขับเคลื่อนคนเรา บางจังหวะก็เป็นความสุขเล็กๆ บนก้อนเกลือ บางจังหวะแปรสภาพเป็นชิ้นหมู (ล่องหน) ในถ้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้องๆ ทีมสยามร้าย ที่ตอนสมัครมา ก็คงคาดหวังกับการทำงานด้านการท่องเที่ยว แต่เมื่อเจอกับรูปแบบงานที่เปลี่ยนไปในสถานการณ์โควิด ในมุมมองพวกเขา การหยุดตัวเองแล้วไปทำอย่างอื่น อาจจะดีกว่า   

“พอเราขายเนยถั่วมาเรื่อยๆ ก็มีคนสั่งซื้อ แต่น้องๆ ที่ออฟฟิศไม่อยากทำเนยถั่ว เพราะมันไม่ตอบโจทย์กับสิ่งที่อยากทำ พอเข้าช่วงเดือนธันวาคม ทัวร์ล่วงหน้าที่เราเตรียมไว้ ทั้งเรา ทั้งลูกค้า ยกเลิกงานกันหมด รายได้เป็นศูนย์ แต่เรา (สองคนกับภรรยา) ก็ยังวางแผนทำทัวร์ต่อ คิดว่าช่วงกลางปี หลายๆ อย่างจะกลับมาดีขึ้น พอเข้าเดือนเมษายน ก็มาเจอการระบาดระลอกที่ 3 อีก ตอนนั้นไม่มีงานเลย แล้วก็คิดว่าจะเป็นอย่างนี้ไปอีกนาน”

ทำงานประจำอย่างรู้จักตน

“ตอนนั้นก็คิดถึงครอบครัว คิดถึงลูก เลยคิดว่าน่าจะอยู่ยากถ้าไม่มีแหล่งรายได้เข้ามาเหมือนตอนที่ธุรกิจยังดีๆ เนยถั่วเราก็ยังทำอยู่ จนได้มาเจองานที่รู้สึกว่า ยังไม่หลุดความเป็นตัวเอง เป็นตำแหน่งงาน นักวิชาการวิสาหกิจเพื่อสังคมชำนาญการของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม – สวส. เราก็สมัครไป แล้วได้งาน”

เพราะสยามร้ายรู้มาโดยตลอดว่า แก่นของบริษัทคือคำว่า “ชุมชน” การปรับตัวให้อยู่รอดโดยที่ “ไม่ทิ้งความเป็นตัวเอง” เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สยามร้าย ใช้ในสถานการณ์อันบีบคั้นเช่นนี้ นั่นคือ การทำงานประจำมีเงินเดือน

“ดีที่งานประจำมีลักษณะไม่ฉีกไปจากความตั้งใจเรา จริงๆ ด้วยสถานการณ์แบบนี้ เราคิดว่าเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ แต่เดิมสยามร้ายก็รับงานกับหน่วยงานรัฐอยู่แล้ว งานนี้ได้ทั้งรายได้ เสริมภาพลักษณ์จากเดิมที่เราเป็นผู้เชี่ยวชาญการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ตอนนี้เราได้เรียนรู้เรื่องการเป็น ทำธุรกิจเพื่อสังคม เราก็ได้เข้าไปอยู่ในส่วนของการเป็นลูกค้า ได้เห็นระบบ ได้รู้สึกจริงๆ ว่าลูกค้าทำงานอย่างไร คิดอย่างไร ที่สำคัญเราได้เห็นโมเดลธุรกิจของธุรกิจเพื่อสังคมหลายๆ แบรนด์ ที่นำมาเรียนรู้และปรับใช้ได้ในอนาคต”

เริ่มต้นใหม่บนสิ่งเดิมๆ 

ช่วงระหว่างที่ทำเนยถั่วร่วมกับชุมชน สยามร้ายพบกับความเป็นไปได้ใหม่ จากจุดยืนที่ต้องการสร้างแสงสว่างให้กับชุมชน บวกกับความต้องการแก้ไขปัญหาขนส่งเนยถั่ว ที่ต้องใช้พลาสติกจำนวนมากเพื่อห่อหุ้มขวดแก้วกันกระแทก สยามร้ายจึงชวนเพื่อนมาทำผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ ที่ยังคงมีพื้นฐานจากการนำเสนอสิ่งที่ชุมชนมี ในชื่อแบรนด์ “กล้วยช่วยโลก”

“เพราะเราส่งเนยถั่วที่เป็นขวดแก้ว พอเริ่มใช้พลาสติกกันกระแทกเยอะก็รู้สึกว่า มันสิ้นเปลืองและทำลายสิ่งแวดล้อม ก็เลยชวนรุ่นน้องในโครงการพอแล้วดี มาช่วยคิดแก้ปัญหา โดยมีโจทย์ที่ว่า ยังคงบอกเล่าเรื่องราวของชุมชน และต้องเป็นราคาที่จับต้องได้ เพื่อส่งเสริมให้คนหันมาใช้แทนพลาสติกได้จริง

“SiamRise Travel X Rush Lush Craft Café X Rice Bird Organic Farm พัฒนาร่วมกัน โดยจับประเด็นเรื่องของเหลือใช้ในสวนมาสร้างประโยชน์ ทำมาเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นกันกระแทกจากก้านกล้วยแห้ง ธรรมชาติที่ย่อยสลาย 100% เป็นรายได้อีกทางของเรา ที่ไม่ได้หลุดจากความตั้งใจในเรื่องชุมชนของสยามร้าย”

SiamRise จะยังอยู่รอจนวันที่การท่องเที่ยวกลับมา

ก่อนหน้าที่จะเกิดโควิดจริงๆ แล้วสยามร้ายเอง ได้เห็น ได้คาดการณ์ตามสถิติอยู่แล้วว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางได้เปลี่ยนพฤติกรรมไป คนเดินทางด้วยตัวเองมากขึ้น จ่ายทัวร์น้อยลง ไม่แปลกที่ทุกๆ คนรู้อยู่แล้วว่าต้องปรับตัว แต่การที่ “ยังมีลูกค้าอยู่” ทำให้ธุรกิจไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร โควิดกลับกลายเป็นตัวเร่งอย่างฉับพลันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

“ในเชิงธุรกิจ แต่เดิมเราทำตลาดเดียว พอมาเจอปัญหามันก็พัง เราต้องเพิ่มภูมิคุ้มกัน เรายังคงใช้สิ่งที่ชุมชนมีมาตอบโจทย์ แต่เดิมเราอยากให้คนรู้จักพื้นที่ต่างๆ  จากที่คนรู้จักแล้ว การท่องเที่ยวควรเข้าไปแก้ปัญหาในชุมชนให้ได้ สุดท้ายปลายทางของเราคือ “ชุมชน” เราแค่เปลี่ยนกลุ่มคนที่เข้ามา เปลี่ยนรูปแบบสิ่งที่เราขาย แต่แก่นแท้ยังคงอยู่ เรามีบทเรียนแล้วว่า ถ้ามัวยึดอยู่กับตลาดกลุ่มเดียว กิจกรรมอย่างเดียว พอเกิดวิกฤติ ทุกอย่างมันพังพินาศ”

ความชัดเจนที่สุดที่ไม่พูดถึงไม่ได้ของสยามร้าย คือการส่งคุณค่าร่วมกับชุมชน แม้ว่าการท่องเที่ยว จะไปต่อไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะทำให้แก่นหลักของบริษัท กับคำว่า “ชุมชน” หายไป

การปรับตัวของสยามร้ายในวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ถึงจะหนักหนาสาหัส ฉับพลัน และกระเสือกกระสนดิ้นรน จนต้องหยุดกิจกรรมบางอย่างของธุรกิจ แต่ถ้ายังสามารถดึงจุดเด่นของตัวเองออกมาได้ แล้วส่งต่อคุณค่า ด้วยตัวกลางที่แตกต่างออกไป ธุรกิจก็ยังมีทางรอด หลังราตรีที่มืดมิด ย่อมมีแสงของดวงอาทิตย์เมื่อรุ่งอรุณเสมอ

:::

พอแล้วดี The Creator : ธนาวุฒิ ศุภางคะรัตน์(กู๊ด)

ธุรกิจ : SiamRise Travel (สยามร้ายทราเวล)