คุณอาทิตย์ จันทร์นนทชัย

เรื่องราวของหนุ่มเมืองกรุงที่มีใจรักการเกษตร เลยหันมาทำธุรกิจเกี่ยวกับการปลูกผัก อาจเป็นเรื่องที่ไม่ใหม่ และได้ยินกันจนชินชา

แต่ความน่าสนใจในเรื่องราวของ โต-อาทิตย์ จันทร์นนทชัย หนุ่มครีเอทีฟเมืองกรุงที่ลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของธุรกิจชื่อ FARMTO (ฟาร์ม-โตะ) ร่วมกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ไม่ได้อยู่ที่แพสชั่น แรงบันดาลใจ หรือไฟฝันใดๆ แต่มันคือแนวคิดที่ช่วยประคองเกษตรกรอีกมากมายให้เติบโตไปด้วยกันผ่านแพลตฟอร์มที่อยากสร้างโอกาสและอนาคตให้กับเกษตรกร รวมไปถึงการสร้างชุมชนเกษตรอินทรีย์ให้มีตลาดรองรับที่แน่นอน ผ่านเทคโนโลยีที่ช่วยให้การส่งต่อ แบ่งปัน และเกื้อกูลกันและกันไม่ยากเย็นจนเกินไปนัก

ระหว่างทางที่เต็มไปด้วยเสียงตอบรับ คำชื่นชม แรงเชียร์ และรางวัลที่ผลักให้เขาก้าวกระโดดไปได้ไกล แต่ในขณะเดียวกัน ความเหนื่อยหนักและภาระที่ไม่อาจผลักไสก็ทำให้พวกเขาสะดุดล้มหรือเดินเฉไปในทางอื่นบ้าง แต่สิ่งที่ทำให้สตาร์ทอัพตั้งใจดีกลุ่มนี้ พบวิธีที่จะเดินตรงบนเส้นทางนี้ต่อไป คือหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

หลักที่ทำให้ความตั้งใจดี พอดิบพอดีกับวิถีที่ควรจะเป็น   

ฝันโต ๆ ของโต

ความฝันของโตเริ่มต้นจากซื้อที่ดินเล็กๆ เพื่อทำเกษตรอินทรีย์แถวย่านรังสิต ปลูกจนแล้วจนรอดมีผลผลิตขึ้นมาได้ เหลือกินเหลือใช้ในครอบครัวก็อยากแบ่งปันให้คนอื่น เลยไปเข้าร่วมกลุ่มเกษตรกรของตำบล แล้วก็ได้เรียนรู้ความเจ็บปวดของเกษตรกรที่การขายผลผลิตอินทรีย์ เป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย

“ถ้าหากเราคิดโมเดลหรือวิธีการอะไรสักอย่างที่ผู้บริโภคมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเพาะปลูก เพื่อที่เขาจะได้ผลผลิตกลับไป แบบนี้จะดีไหม เป็นลักษณะคล้ายๆ กับสังคมแบ่งปันที่เราอยากให้เป็น ผ่านการร่วมเป็นเจ้าของผลผลิตทางการเกษตร”

โมเดลแรกของโตเริ่มด้วยการทำเพจเฟซบุ๊ก ปรากฏว่ามีเพื่อนอีกสองคนที่สนใจอยากทำสตาร์ตอัพด้านการเกษตร ทั้งสามเลยมาร่วมเป็นเจ้าของธุรกิจเล็กๆ ด้วยกันภายใต้ชื่อแบรนด์ฟาร์มโตะ เป้าหมายของแบรนด์คือการทำแพลตฟอร์มจับคู่เกษตรกรและผู้บริโภค

แม้เอาเรื่องราวไปเล่าให้ใครฟังจะเจอคำตอบกลับมาว่า ‘เป็นไปไม่ได้’ หรือ ‘ไม่ง่ายหรอก’ แต่โตและเพื่อนๆ ก็มุ่งมั่นหาพาร์ตเนอร์ที่เป็นเกษตรกร 10 รายแรก และคิดทำโฆษณาเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของเกษตรกรเหล่านี้ ดึงให้บริโภคสนใจ โดยนำเงินลงทุนจากเพื่อนๆ ที่เก็บหอมรอมริบกันเดือนละ 3-4 พันบาทมาทำโฆษณาชิ้นนี้

ความเจ็บปวดของนักเดินสายประกวด

โฆษณาตัวแรก คือจุดเริ่มต้นให้ฟาร์มโตะเริ่มเข้าสู่งานประกวดเชิงธุรกิจ งานประกวดแรกทำให้ได้เงินทุน 5 หมื่นบาท เพื่อนำมาทำสื่อประชาสัมพันธ์ ซึ่งผลตอบรับจากโฆษณาตัวแรกนั้นก็ดีเกินคาด แต่…

“3 เดือนแรกเกิดอะไรขึ้น คือยอดขายเราทำรายได้ให้เกษตรกรหลายแสนบาท แต่หักมาที่ฟาร์มโตะแค่ 20% เท่ากับเรามีกำไรอยู่แค่ไม่กี่หมื่นบาท เราจะเดินต่อด้วยวิธีการแบบเดิมอีกไม่ได้ เพราะว่าเงินที่กำไรเนี่ยมันน้อยนิด จะไปทำวิดีโอเพิ่มทุกๆ บ้านก็คงไม่ไหว เราก็ไม่รู้จะทำยังไง”

ฟาร์มโตะตัดสินใจเข้าร่วมโครงการประกวดอีกครั้ง แต่รอบนี้เป็นหลักสูตรสำหรับผู้ประกอบการที่อยากจะนำแนวคิดของตัวเองมาใช้สร้างเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหา ครั้งนี้ฟาร์มโตะได้รางวัลชนะเลิศเป็นเงินเกือบหนึ่งล้านบาท แต่มีเงื่อนไขว่าต้องนำเงินก้อนนี้ไปพัฒนาแอพพลิเคชั่น กลายเป็นว่าทุกคนในบริษัทต้องกลับไปทำงานกันมากขึ้น

“กลายเป็นเหนื่อยขึ้นครับ แทนที่เราจะรันได้เต็มที่ก็ไม่เต็มที่ อยากจะออกจากงานก็ออกไม่ได้ กลายเป็นทำงานมากขึ้น ทำงานเจ็ดวันเลยคราวนี้ บางทีก็ไม่ค่อยได้นอน กลายเป็นว่า เราสามคนรับมือจัดการอะไรก็ไม่ได้ไปหมด” โตเล่า

พอไปประกวดเยอะมากๆ เข้า มันเหมือนกับเราตามหาไม่สิ้นสุด เพื่อนคนหนึ่งจะต้องนั่งทำแอพฯ ทุกวัน ผมจะกับเพื่อนอีกคนหนึ่งต้องแยกย้ายกันไปคิดเรื่องงานประกวด และการหาเงินเข้ามา การค้าสำหรับมุมฟาร์มโตะตอนตั้งต้นที่ฝันจะเชื่อมโยงเกษตรกรกับผู้บริโภค ก็เลยไม่ค่อยได้ทำเท่าไร ทุกอย่างมันพองไปหมด เราไปทางไหนไม่รู้ มันหมุนไม่ถูกทางไปหมด

จังหวะแห่งความสับสนหลงทาง ฟาร์มโตะกางแผนที่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และปรับใช้ให้เกิดความพอดีในธุรกิจ

ทำจุดมุ่งหมายให้พอดีตัว

“ช่วงแรกที่มาโครงการพอแล้วดี ผมกลับไปนอนคิดเลยนะ ว่าทำไมโมเดลแรกของฟาร์มโตะที่ให้คนมาร่วมเป็นเจ้าของนาข้าวถึงเวิร์ก ถึงแฮปปี้ที่สุดแล้ว แต่พอเรามาสเกลให้ใหญ่ กลับทำให้หลายคนต้องทำงานหนักขึ้น มันไม่พอดีหรือเปล่า การขยายตัวของฟาร์มโตะมันใหญ่เกินไปหรือเปล่า”

เมื่อปรึกษาเพื่อนและครอบครัว ก็พบว่านอกจากมีเวลาให้ที่บ้านน้อยมาก หลายครั้งเพื่อนๆ ก็ต้องโดดงานมาประชุม ใช้เวลาหลังเลิกงานอยู่ด้วยกัน ทั้งหมดนี้เกิดจากการที่ฟาร์มโตะเลือกที่จะขยับสเกลของธุรกิจ เพื่อนำเงินลงทุนมาทำแอพพลิเคชั่น จากผู้บริโภคเดิมที่มีอยู่เพียง 500 คน เลยต้องเปลี่ยนไปเป็น 60 – 70 ล้านคน ซึ่งก็คือคนทั้งประเทศ

ที่เราคิดไว้มันใหญ่เกินไป เงินลงทุนก็สูง เกษตรกรก็ต้องเยอะ ผู้บริโภคก็ต้องเยอะ ทุกอย่างมันเป็นสเกลใหญ่ไปหมด พอเป้าหมายเราใหญ่มันก็ไม่โฟกัส อยากขายโน่นขายนี่ มีพาร์ตกิจกรรม พาร์ตท่องเที่ยวการเกษตร จนสุดท้ายผมต้องกลับมาตั้งต้นว่าเราเป็นใคร แล้วเราอยากทำอะไรกันแน่

โตอย่างมีภูมิคุ้มกัน

สิ่งแรกที่โตกลับมาโฟกัส คือการทำในสิ่งที่ตัวเองควบคุมดูแลได้ ซึ่งต้องเริ่มจากการหาภูมิคุ้มกันทางการเงิน แทนที่จะโฟกัสผู้บริโภครายย่อยเพียงอย่างเดียว ก็หันมาหาลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการก่อน เพื่อการขายให้ได้ปริมาณ สั่งปลูกล่วงหน้าได้เป็นจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรมั่นใจขึ้น และทำให้ฟาร์มโตะมีรายรับที่จะนำไปหมุนเวียนทำสิ่งต่างๆ ได้ต่อไป

“ถ้าเราได้ 10 ร้านค้า ฟาร์มโตะมีเงินหมุนเวียน ผมก็จะออกจากงานแล้วมาทำตรงนี้ได้เต็มที่ มันน่าจะดีกว่าที่เรายืนสองขาอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ เพราะการที่เรามีจ้างน้องๆ มาเป็นแขนเป็นขาแทนเรา บางทีเขาอาจจะไม่ได้มีแพสชั่นหรือไม่ได้แก้ปัญหาได้เท่าเรา เพราะเขาไม่มีความรู้เรื่องการเกษตรดีพอ และเราเองก็อาจจะไม่รู้ดีเทลของปัญหาที่มันจะเกิดขึ้นในอนาคต” ชายหนุ่มที่กำลังทำงานสองขาอธิบาย

ถ้ามีรายได้เพียงพอจะออกจากงาน โตจะนำเวลาที่ตนได้มาไปบริหารจัดการรอบปลูกให้เกษตรกร เพื่อช่วยให้ชุมชนเกษตรอินทรีย์หรือว่าเกษตรกรที่ทำแบบอินทรีย์ได้ทำงานแบบมีตลาดรองรับ และไม่ต้องปวดหัวกับการที่ไม่รู้ว่าปลูกอินทรีย์ไปแล้วจะไปขายใครอย่างที่เคยเป็นมา

“พอเหนื่อยมากๆ บางทีเราก็คิดว่าเรารู้แล้วว่าเงินคือปัญหาแหละ ทำไมเราไม่รับเงินจากนักลงทุนที่เขาอยากจะลงทุนร่วมกับฟาร์มโตะ แล้วเราก็เอาเงินนี้ไปทำให้ฟาร์มโตะให้ดีขึ้น แต่เหตุผลที่ผมไม่ได้รับข้อเสนอเหล่านั้นมา เพราะผมยังไม่เจอองค์กรที่เขาคิดไปในทางเดียวกันกับเรา ที่อยากช่วยภาคเกษตรอินทรีย์โดยรวมได้จริงๆ เราก็ไม่เอาดีกว่า” โตเน้นย้ำ และสิ่งที่เขาเลือกจะทำ คือการหาคู่ค้าที่เข้าใจรูปแบบ เป้าหมาย และมีใจที่อยากจะเชื่อมโยงร่วมกันผ่านแนวคิดแห่งการแบ่งปันอย่างแท้จริง เพราะเขามั่นใจมากกว่า ว่าวิธีนี้จะเป็นความยั่งยืนและภูมิคุ้มกันในกันอนาคตที่จะค่อยๆ เติบโตไป

เพราะสิ่งที่เขียนอยู่ใน Brand Passion ของฟาร์มโตะวันนี้ คือการเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างโอกาสและอนาคตให้กับเกษตรกร รวมทั้งสร้างชุมชนเกษตรอินทรีย์ให้มีตลาดรองรับที่แน่นอนให้เกิดขึ้นจริง

นั่นคือฝันก้อนใหญ่ แต่ที่ทำให้พวกเขามั่นใจว่ามันจะไปถึงได้ คือการรู้แล้วว่าตัวเองเป็นใคร มีเหตุมีผลในการเดินไป และมีภูมิคุ้มกันที่จะหยุดอยู่แค่กลางทาง

เลือกทำสิ่งที่เราถนัดหรือมีความรู้ไปก่อน แล้วค่อยนำมาพัฒนาส่วนต่างๆ ให้ดีขึ้น แล้วเราจะไปถึงจุดมุ่งหมายแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปได้ ไม่จำเป็นต้องทำให้ได้เดี๋ยวนี้